ส่วนสาเหตุที่ สนช.เสนอให้มีกลไกเพื่อให้แก้ไขปัญหาวิกฤตประเทศ โดยให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญเรียกผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประธานองค์กรอิสระ ปลัดกระทรวงกลาโหม และบุคคลอื่นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดนั้น เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาเคยเกิดปัญหาวิกฤตจนทำให้สถาบันทางการเมืองปกติไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงควรต้องมีกลไกดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ประเทศคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และยืนยันว่าการทำหน้าที่ของประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ถือเป็นรัฐฏาธิปัตย์ เพียงแต่เป็นฝ่ายธุรการในการเรียกประชุมเท่านั้น และการประชุมในลักษณะนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ทันทีเพราะจะต้องให้รัฐสภา หรือวุฒิสภามีความเห็นก่อนว่าเกิดสถานการณ์วิกฤตที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญจะสามารถเรียกประชุมได้
"การให้กองทัพเข้ามาอยู่ในกลไกแก้วิกฤตประเทศ เพราะเห็นว่ากองทัพถือเป็นสถาบันหนึ่งของประเทศ จึงควรมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ" นายสุรชัย กล่าว
สำหรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ส่งมาให้ สนช.แล้วหรือไม่นั้น นายสุรชัย กล่าวว่า ยังไม่มีการประสานมา และเพิ่งเห็นจากข่าวที่สื่อนำเสนอ อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาหนึ่งเกี่ยวกับการทำประชามติที่จะต้องพิจารณาในอนาคต คือ สนช.มีอำนาจในการเสนอคำถามประชามติเพิ่มเติมได้หรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันกำหนดให้ สนช.เสนอคำถามได้ แต่การเสนอคำถามดังกล่าวของ สนช. จะต้องมาจากการที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช. ) มีมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามประชามติเพิ่มเติมก่อน ซึ่งปัจจุบันไม่มี สปช. จึงเป็นปัญหาว่า สนช.มีหน้าที่เสนอคำถามประชามติเพิ่มเติมได้หรือไม่ ซึ่งจะมีการพิจารณาในอนาคตต่อไป