นอกจากนี้ ครม.ได้เสนอให้ กรธ.คำนึงถึงสถานการณ์บ้านเมือง โดยอยากให้นำปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มาศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการลดความเหลี่อมล้ำในสังคม ความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม และเมื่อเกิดปัญหาแล้วต้องมีการระบุทางออกของปัญหาไว้ด้วย
อีกทั้ง ยังเสนอต่อ กรธ.ถึงการจัดทำกฏหมายลูกว่าให้ดำเนินการจัดทำเฉพาะกฏหมายที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งไปก่อน ไม่จำเป็นต้องทำครบทั้ง 10 ฉบับ เพื่อไม่ให้กระทบต่อระยะเวลาการจัดตั้งเลือกตั้งภายในปี 2560 พร้อมย้ำถึงข้อเสนอให้การปฏิรูปอยู่ในหมวดหนึ่งของรัฐธรรมนูญ โดยมีเรื่องการปฏิรูปตำรวจและการปฏิรูปการศึกษาบรรจุไว้ด้วย และจะต้องมีการดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย
นายวิษณุ กล่าวว่า ได้รายงานผลการหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดทำประชามติต่อที่ประชุมครม. แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการจัดทำประชามติ โดยได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณกลับไปทบทวนเรื่องวงเงินงบประมาณที่จะใช้ รวมถึงการยกร่างกำหนดความผิดเกี่ยวกับการทำประชามติซึ่งเห็นชอบให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม
นายวิษณุ เชื่อว่า หลังจากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นภายในวันที่ 29 มีนาคมนี้ จะมีเวลาเพียงพอที่จะสร้างความเข้าใจและให้ประชาชนรับรู้ต่อร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้