ส่วนประเด็นที่มา ส.ว.ให้มาจากการสรรหาทั้งหมดจำนวน 200 คนนั้นก็เพื่อให้ ส.ว.มีความเป็นเอกภาพ เพราะหากมีที่มาแตกต่างกันอาจเกิดดุลอำนาจไม่เหมาะสม และเชื่อว่าข้อเสนอดังกล่าวทาง กมธ.ใน สนช.ได้ถอดบทเรียนมาอย่างดีแล้วจากประสบการณ์ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และ50 ก่อนตกผลึกเป็นความคิดดังกล่าว นอกจากนี้ในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนควรเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งไม่ควรบัญญัติในหมวดหน้าที่ของรัฐ และยังขาดความชัดเจนว่า หากรัฐไม่ทำตามประชาชนจะมีสิทธิฟ้องรัฐหรือไม่
นอกจากนี้ กรณีที่มีกลุ่มต่างๆเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ กรธ.ในวันสุดท้ายเป็นจำนวนมากถือเป็นเรื่องดี สะท้อนสังคมต้องการมีส่วนร่วมและแสดงความเห็นที่หลากหลาย แต่เมื่อ กรธ.นำไปพิจารณาเป็นร่างสุดท้ายแล้ว หากความเห็นใดไม่ได้รับการปรับแก้ไข กรธ.ก็ควรมีการอธิบายเหตุผลรองรับมากกว่าการออกมาตอบโต้ จะช่วยให้การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างสมบูรณ์
ส่วนประเด็น สนช.ต้องจัดทำคำถามประชามติด้วยหรือไม่นั้นยังไม่ได้ข้อสรุป รวมถึงประเด็นการนับคะแนนเสียงประชามติ ซึ่งเป็นปัญหาในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่จะต้องไปแก้ไข และรัฐบาลต้องเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะแก้ไขให้เกิดความชัดเจนหรือไม่ แต่คาดว่าในการประชุมแม่น้ำ 3 สายสัปดาห์หน้า ทาง สนช.ก็อาจจะนำไปเป็นข้อหารือกับคณะรัฐมนตรี (ครม.)