"กดดันคงไม่กล้าไป คนเขามีมารยาทเพียงพอ และเขาเห็นอาเซียนเป็นภูมิภาคที่สำคัญในโลกใบนี้ เราเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน เพราะฉะนั้นเขาแยกแยะออก หลายเรื่องมีความคืบหน้าตามลำดับ ผมเห็นเขาคุยดีทั้งนั้น ประธานาธิบดีโอบามาก็ให้กำลังใจให้เราเดินหน้าสูประชาธิปไตยก็ขอให้มีความสำเร็จ ไม่ได้กดดันให้ทำเร็วๆ ไม่เห็นเขารังเกียจรังงอนผม บางคนอาจจะเสียใจว่าคงไม่ได้จับมือ แต่เขาก็จับมือผมแน่นดี" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อย่าไปมองเพียงประเด็นว่าสหรัฐฯ จะชอบหรือไม่ชอบไทย เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่ประเทศประชาธิปไตยคงไม่สามารถมาชื่นชมไทยได้ แต่อยากให้มองว่า รัฐบาลบริหารงานอย่างไร ขณะที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์กับทุกประเทศ ไม่เพียงแต่สหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวตามที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ รัฐบาลเดินหน้าความร่วมมือทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจกับทุกประเทศ และหลังจากนี้จะมีการประชุมร่วมระหว่างอาเซียน-อินเดีย และอาเซียน-รัสเซียต่อไป
"แบ่งข้างกันไม่ลืมหูลืมตา แบ่งทั้งในประเทศ ต่างประเทศก็จะไปแบ่งเขาอีก แล้วเราจะอยู่ได้หรือไม่บนโลกใบนี้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อเสนอของแกนนำพรรคการเมืองที่จะให้เปิดเวทีดีเบตระหว่างกลุ่มการเมืองกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ไม่มีความจำเป็นต้องเปิดเวทีดังกล่าว เนื่องจากมีเวทีรับฟังความคิดเห็นอยู่แล้ว ทั้งยังมีการทำประชามติ ปัญหาวันนี้ไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่คนจะยอมรับกฎหมายหรือไม่ ถึงแม้จะมีการร่างรัฐธรรมนูญออกมาดีแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือ จึงอยากให้ทุกคนให้ความร่วมมือและอยู่ภายใต้กฎหมาย แต่ถ้าอยากจะดีเบตก็ให้มาดีเบตกับตนเอง
ส่วนกรณีที่มีการจัดระเบียบสื่อมวลชนที่จะสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อยากให้สื่อและตนเองมีความเข้าใจตรงกัน หากวันข้างหน้าสถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้นอาจจะเพิ่มเติมจำนวนคำถามขึ้นมาอีกได้
"ก็เลข 4 เลขดี เจ็ก หนอ ซา สี่ เลขสี่ดี ถ้าโหงไม่ค่อยดี มันเกิน ถ้าวันหน้าคุยกันรู้เรื่องและมันดีขึ้น ช่วยนำความเข้าใจ ก็อาจจะเป็นสี่ ห้า หก ก็ได้ วันนี้สตาร์ทสี่ก่อน เลขดี" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว