ขณะเดียวกันจะนำเนื้อหาจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ในส่วนของการคุ้มครองสิทธิมาบัญญัติไว้ด้วย เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิ สามารถนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการต่อสู้คดีตามกฎหมายได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป
ส่วนการปรับย้ายข้อความตามมาตรา 7 ที่ใส่ไว้ในมาตรา 207 ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญกลับมาอยู่ที่เดิมนั้น เนื่องจากมองว่า องค์กรอย่างคณะรัฐมนตรี, ส.ส., ส.ว. และองค์กรอิสระ ย่อมต้องมีอำนาจในการตีความข้อขัดแย้งภายในก่อน จึงส่งให้ศาลพิจารณา บุคคลหรือองค์กรอื่นไม่สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามมาตรา 7 ได้ หากบุคคลหรือหน่วยงานอื่นไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยขององค์กรนั้นก็ให้ใช้ช่องทางตรวจสอบฐานกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ยกตัวอย่าง เช่น หากเห็นว่าเสียงข้างมากของรัฐสภาประพฤติมิชอบก็ยื่นคำร้องให้ตรวจสอบผ่านทางผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น การกำหนดเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นการเพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ แต่เพื่อช่วยคุ้มครองหน่วยงานเหล่านั้น หากไม่แน่ใจก็ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อน จะได้ปฏิบัติหน้าที่ไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ส่วนข้อเสนอต่อร่างแรกรัฐธรรมนูญของ ครม.ทั้ง 16 ข้อนั้น กรธ.ยังไม่ได้พิจารณา ส่วนจะพิจารณาปรับแก้ตามหรือไม่ขึ้นอยู่กับ กรธ. โดยให้ความสำคัญต่อทุกความเห็นเท่ากัน การพิจารณาขึ้นอยู่กับเหตุผลเป็นสำคัญ