นายกฯ แจงข้อเสนอรัฐบาลให้ร่าง รธน.มีบทเฉพาะกาลเพื่อช่วยขับเคลื่อนปฏิรูป

ข่าวการเมือง Tuesday February 23, 2016 16:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยชี้แจงถึงข้อเสนอของ ครม.ที่ส่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยเฉพาะข้อที่ 16 เรื่องการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2 ช่วงว่า ประเด็นนี้อาจเป็นเรื่องความเข้าใจผิด และไม่ใช่เป็นการแบ่งการใช้รัฐธรรมนูญออกเป็น 2 ช่วง แต่ในความหมายนี้คือในช่วงแรกที่มีการเปลี่ยนผ่านจำเป็นต้องมีการบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลเพื่อให้มีกลไกในการขับเคลื่อนการปฏิรูป และสามารถปรับแก้เมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ

ทั้งนี้ ในช่วงแรกของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีการสร้างความเข้าใจว่าทำอย่างไรให้ประเทศชาติเกิดความมั่นคง จึงทำให้ต้องมีการปรับวิธีการบริหารราชการของรัฐบาลชุดต่อไป แต่ไม่ใช่เป็นการปรับทั้งหมด จึงเป็นที่มาที่มีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมไปกับการเดินหน้าตามแผนงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลชุดหน้าว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่รัฐบาลชุดนี้เห็นว่าส่วนหนึ่งจะต้องทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติควบคู่กับนโยบายของพรรคการเมืองที่จะเข้ามาทำงาน ซึ่งอาจเป็นกรอบที่จะใช้ดำเนินการภายใน 5 ปี ด้วยการมีกลไกหรือคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ

"บางทีไม่มีกลไกตรงนี้ก็เดินตามสถานการณ์การเมือง แล้วเมื่อมีการต่อสู้ทางการเมืองมันก็วุ่นไปหมด ถ้าเดินสองทาง คือ เดินส่วนนี้เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า แล้วทางการเมืองก็เดินของท่านไป ถามว่าต้องมีมาตรการอะไรหรือไม่ มันก็ต้องมี แล้วมีหลายอย่างหรือไม่ที่ต้องควบคุมไปตามนี้ มันก็ต้องมีหลายอย่าง ไม่ว่าคณะที่อาจจะมีขึ้นมาใหม่ หรือเป็น ส.ว.หรือจะเป็นใครก็แล้วแต่ แต่ทั้งหมดเป็นกลไกที่จะประเมินเท่านั้นเอง ถ้าไม่ได้ขึ้นมาทั้งสองสภาก็คุยกัน มันเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเปิดอภิปราย ทำไมไม่ทำนี้ทำโน้น แก้ไขกันอย่างไร ถ้าทำได้ก็ทำไป ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องมีคนตัดสิน คือไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ส่วนช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน คสช.จะยังอยู่หรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะให้ความชัดเจน แต่ระบุว่าเป็นเรื่องที่ กรธ.จะพิจารณาในรายละเอียด โดยยืนยันเจตนาของข้อเสนอของ ครม.เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตัว

"ผมจะอยู่ทำไม เขาก็มีวิธีการอื่น ถ้าอยู่ได้ด้วยกลไกปกติก็อยู่ไปสิ ผมถึงบอกว่าจะมีคณะหรือไม่มี จะมีวิธีการไหนก็ไปว่ากันมา ไม่ใช่ว่าจะมองว่าผมจะอยู่หรือไม่อยู่ ไม่ต้องมายุ่งมาสนใจผมมากนัก ผมมีหน้าที่ทำให้บ้านเมืองสงบ เดินหน้าไปสู่เลือกตั้ง ท่านก็ไปคิดกันต่อว่าจะอยู่กันอย่างไร อย่ามาโทษผมว่าผมทำไม่เรียบร้อย อย่ามาโทษกันแบบนี้" นายกรัฐมนตรี กล่าว

พร้อมกันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ขอแสดงความเห็นถึงจุดประสงค์ในการออกมาเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เสนอให้มีกระบวนเจรจายุติความขัดแย้ง โดยกล่าวแต่เพียงว่าหากจะต้องพูดคุยหาทางออกก็จะต้องยึดตามกรอบของกฎหมาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ