นอกจากนี้ กรธ.ยังยืนยันจะให้หมวดหน้าที่ของรัฐไว้ในร่างรัฐธรรมนูญด้วย หมายความว่า หากรัฐไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ประชาชนจะมีสิทธิฟ้องร้องรัฐได้
ขณะเดียวกัน กรธ.ได้ปรับเปลี่ยนและเพิ่มเนื้อหาให้ชัดเจนขึ้น อาทิ มาตรา 41 บุคคลมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และมีสิทธิฟ้องหน่วยงานรัฐ รวมทั้งบุคคลหรือชุมชนมีสิทธิเข้าชื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐ หรืองดเว้นการดำเนินการที่จะกระทบต่อความสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน โดยหน่วยงานรัฐและประชาชนจะต้องพิจารณาข้อเสนอนั้นด้วย เช่นเดียวกับ มาตรา 43 บุคคลและชุมชน มีสิทธิจะฟ้องหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและย่อมได้รับความคุ้มครองในกรณีที่ต้องการอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดี และ มาตรา 54 หากรัฐอนุญาตให้ผู้ใด ดำเนินการที่กระทบสิ่งแวดล้อมสุขภาพอนามัยคุณภาพชีวิตหรือส่วนได้ ส่วนเสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม รัฐต้องดำเนินการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียก่อน โดยเป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติ เป็นต้น
นายชาติชาย กล่าวต่อว่า กรธ.ยังได้เพิ่มบทบัญญัติใหม่ ในมาตรา 43/1 บุคคลย่อมมีสิทธิรับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช่ข้อมูลด้านความมั่นคงของรัฐและความลับทางราชการตามที่กฎหมายกำหนด
"ยืนยันว่า กรธ.ยังมีเวลาปรับแก้อีก แต่ในเรื่องสิทธิชุมชนจะไม่มีการปรับลดลงให้น้อยไปกว่านี้ นอกจากเห็นว่าหากมีอะไรที่ดี ทาง กรธ.จะเพิ่มเติมให้ให้"นายชาติชาย กล่าว