ประธาน กรธ.เผยเคลียร์ปมข้อเสนอครม.แล้ว ปัดมี 2 ขยัก-ไร้องค์กรพิเศษ

ข่าวการเมือง Thursday February 25, 2016 18:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ตนเองได้หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐมนตรี 16 ข้อแล้วเมื่อวานนี้ ซึ่งไม่ได้ทำให้มีองค์กรที่มีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างที่มีการตีความกันไป เพราะทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดปัจจุบัน, สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หมดวาระไปเมื่อมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง
"เมื่อคืนก็มีคนถามก็บอกไปแล้วว่าไม่มีหรอก ถ้ามีก็ต้องเขียนไว้ในนั้น อีกเดี๋ยวก็เห็น ไม่มีหรอก เพราะว่าเมื่อมีรัฐบาลใหม่มาแล้ว ทุกคนก็ไปกันหมด เหลือแต่คนที่ทำหน้าที่กันอยู่ คือ พวกที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งชุดใหม่เขาก็ทำงานของเขาไป ส่วน คสช.นั้นก็ไป ที่เขียนไว้นั้นไม่เห็นหรือ นั่นแหละคือขยักที่ท่านว่า" นายมีชัย กล่าว

ประธาน กรธ. กล่าวว่า ในการหารือกับนายวิษณุนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าคำแนะนำที่ว่า หากอะไรที่คนเสนอมาจะไปทำให้กฎเกณฑ์ที่เราวางไว้เสียหาย หรือไม่ควรแก้ตรงนั้น และคิดว่าควรจะรอมชอมให้เขานั้น ก็ให้ไปทำในบทเฉพาะกาลได้เท่านั้นเอง แล้วก็ระหว่างเปลี่ยนถ่ายขอให้เกิดความราบรื่น ซึ่งเราก็ทำอยู่แล้วไม่มีปัญหา

"คำว่า 2 ขยัก คือ มีบทถาวร และมีบทเฉพาะกาล ซึ่งก็มีอยู่แล้ว ทีนี้พอท่านใช้คำว่าขยักก็เลยเข้าใจผิด ความหมายคืออะไรที่ใช้ชั่วคราวก็อย่าทำให้หลักใหญ่มันเสีย ก็เขียนไว้ในบทเฉพาะกาล ซึ่งเราก็เขียนไว้แล้ว ทีนี้หากเผื่อมีใครเสนอมาแล้วทำให้เราคิดว่าควรจะทำ แต่ทำให้หลักข้างในเราเสียก็อาจเขียนเพิ่มเติมในบทเฉพาะกาลได้เท่านั้นเอง" นายมีชัย กล่าวว่า

สำหรับข้อเสนอที่ 16 กับความต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีให้เกิดความสมดุลนั้นเกี่ยวข้องกันอย่างไรนั้น นายมีชัย กล่าวว่า นั่นคือส่วนที่ว่าด้วยการปฏิรูปที่ต้องการให้ทำให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี ซึ่งในบทเฉพาะกาลเรายังไม่ได้เขียนเรื่องการปฏิรูป เราเขียนจุดๆ เอาไว้ แล้วยังไม่ได้บอกว่าจะต้องทำอย่างไรกับเรื่องการปฏิรูปที่จำเป็นต้องทำ เรายังไม่ได้เขียนกลไกเอาไว้ ซึ่งกลไกนั้นเราจะเริ่มคิดว่าเรื่องไหนจะบังคับให้ทำภายในกี่ปี เรื่องไหนบังคับให้ทำให้แล้วเสร็จ เช่นหากทำให้เสร็จภายใน 1 ปี คือรัฐบาลชุดปัจจุบันก็เป็นคนทำ แต่หากทำให้เสร็จภายใน 3 ปี คือให้รัฐบาลปัจจุบันทำไปส่วนหนึ่ง และให้รัฐบาลใหม่ก็ต้องทำ ตอนนี้เรากำลังคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดคือจะบอกว่าปฏิรูปเรื่องอะไร เพื่ออะไร เพื่อให้บรรลุอะไร ตรงนั้นจะเป็นตัวบังคับ หากถามว่าจะมีหลักประกันอะไรว่ารัฐบาลใหม่จะทำ ตัวนี้จะบังคับ เช่น ให้ปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้เด็กเริ่มเรียนได้ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนภายใน 3 ปี แล้วปีแรกนั้นให้รัฐบาลทำ ส่วนสองปีหลังรัฐบาลใหม่มาก็ต้องทำ นั่นคือช่วงเปลี่ยนผ่านที่ว่า แล้วเราก็อาจเขียนบทกำหนดโทษเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์

ส่วนวัตถุประสงค์ของข้อเสนอที่ 16 คือ อยากให้มีกลไกที่กำกับช่วงสถานการณ์เปลี่ยนผ่าน ดังนั้นอำนาจที่จะใช้ยืนยันหรือไม่ว่าจะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญนั้น นายมีชัย กล่าวว่า ต้องมีการควบคุมไปในตัวเหมือนกับที่เขียนไว้ เช่น การปฏิรูปตำรวจโดยเร็ว ในระหว่างที่ยังไม่มีการปฏิรูปให้แต่งตั้งโดยใช้ระบบอาวุโส นั่นคือตัวควบคุม ส่วนข้อกังวลของรัฐบาลต่อเรื่องสถานการณ์ขัดแย้งนั้น นั่นแหละถูกจัดสรรไว้แล้ว ทั้งนี้เรื่องขัดแย้งหลายเรื่องถูกเขียนไว้ในตัวแม่บทแล้ว แต่คนยังอ่านไม่เจอเท่านั้น

"กลไกพิเศษถ้าจะมีไม่ใช่กลไกอย่างที่คุณเข้าใจ มันจะเป็นกลไกอย่างที่ผมว่า เช่น หากคุณไม่ทำเรื่องนี้จะเกิดอะไรขึ้น ตัวอย่างคือ เราบอกว่ารัฐบาลต้องมีกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง ถามว่าหากรัฐบาลไม่ทำจะทำอย่างไร เราก็เคยคิดว่าถ้าอย่างนั้นรัฐบาลกู้เงินไม่ได้ นี่คือกลไกบังคับ ซึ่งเป็นกลไกตามกฎหมาย ที่เราคิดว่าจะเขียนเราก็ต้องไปเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล" นายมีชัย กล่าว

ส่วนข้อเสนอให้ยกเว้นบางบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญในบทถาวร เช่น ข้อเสนอให้ คสช. ตั้ง ส.ว.ชุดแรกนั้น นายมีชัย กล่าวว่า ตรงนี้ยังพิจารณาไปไม่ถึง เพราะว่าทั้ง สนช. และ สปท.พยายามผลักดันให้เราแก้วิธีให้ได้มาของ ส.ว. ซึ่งเรายังพิจารณาไปไม่ถึง และเราก็กำลังนั่งคิดอยู่ว่าจะทำอย่างไร

ส่วนกลไกในร่างรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในบทถาวร สร้างความมั่นใจอย่างไรว่าจะนำไปสู่เปลี่ยนผ่านโดยไม่ขัดแย้งนั้น นายมีชัย กล่าวว่า ตอนนี้เราไล่ดูข้อเสนอของภาคส่วนต่างๆ หากแก้ได้เราจะแก้ไขให้ เมื่อไปถึงจุดหนึ่งจะเป็นปัญหาแล้วว่าแก้ไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ กรธ. ยืนยัน แต่ไม่แก้อะไรเลยก็จะลำบาก ก็ต้องไปเริ่มคิดกันดู ทั้งนี้ยืนยันว่าข้อเสนอของ ครม.ในข้อ 16 นั้นไม่มีอะไร แต่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านไปโดยไม่ขัดแย้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าจะเขียนอะไรในบทเฉพาะกาล โดยขณะนี้บทเฉพาะกาลเขียนไว้เกือบหมดแล้ว เหลือเพียงกลไกการปฏิรูป และกลไกทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจริงๆ ทั้ง 2 เรื่องก็เขียนไว้ในบทถาวรแล้ว หากรัฐบาลเป็นห่วง ก็อาจไปเขียนในช่วงนี้ต้องรีบทำอย่างไร หากทำไม่เสร็จใครจะต้องทำต่อ ซึ่งหากไปเข้าใจข้อ 16 ผิด ก็เลยกังวลกันมากไป

สำหรับความคืบหน้าการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายมีชัย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมาก็พิจารณาเกือบจบหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐแล้ว เพราะมันเยอะมาก ต้องค่อยๆ ไล่ว่าใครเขาแก้อะไรอยากแก้อะไร พอเมื่อแก้ตรงนี้แล้วก็ไปกระทบตรงนั้น คือเราอยากให้ออกมาดูทุกวัน แต่เจอเข้าแล้วเมื่อแก้แล้ว ไปถึงอีกมาตราหนึ่งก็ต้องปรับ ต้องย้อนมาแก้อีก จึงกลัวว่าจะสับสน แต่นี่ก็พยายามให้ออกมาให้ดูว่าเราแก้ไขให้เยอะมากเลย ใครอยากได้อะไรที่ไม่เสียหายก็แก้ไขให้ โดยการปรับแก้ไขเป็นไปตามความเห็นของภาคประชาชนเป็นหลัก เพราะของ ครม.มี 10 กว่าข้อ ส่วนประชาชนมี 600-700 ข้อ

ส่วนกรณีที่ฝ่ายการเมืองออกมาโจมตีร่างรัฐธรรมนูญว่าทำในเกาหลีเหนือ กังวลว่าจะกระทบต่อความเข้าใจในเนื้อหาและประชามติหรือไม่ นายมีชัยถามผู้สื่อข่าวกลับว่า "ใครพูดว่าไปร่างที่เกาหลีเหนือ" เมื่อผู้สื่อข่าวตอบกลับว่า "นายทักษิณ ชินวัตร" นายมีชัยปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นทันที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ