ส่วนข้อกังวลของนายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับสภาพการบังคับกรณีผู้เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้นั้น นายมีชัย กล่าวว่า เนื่องจากมีกระบวนการและกลไกที่รับผิดชอบอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นที่ กรธ.ต้องไปเขียนไว้ ซึ่งเชื่อว่ากระบวนการและกลไกตามปกติที่มีอยู่ในขณะนี้เพียงพอที่จะควบคุมดูแลไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนในอดีต
"เราไม่สามารถที่จะเขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญได้ ไม่มีทางที่จะเขียนไว้ได้ทุกอย่าง...ไม่ใช่ให้คน 21 คนใช้เวลานิดเดียวแล้วมาเขียนเอาไว้ เพียงเท่านี้ฝ่ายการเมืองก็จะขย้ำผมตายอยู่แล้ว" นายมีชัย กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์
ประธาน กรธ. กล่าวว่า รายละเอียดของเนื้อหาแต่ละเรื่องที่มีการเสนอเข้ามานั้น เช่น การจัดตั้งศาลคดีทุจริต, การจัดตั้งศาลคดีวินัยการเงินการคลัง, ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งสามารถไปกำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับที่จะดำเนินการตามมาในระยะเวลาอีก 10 เดือนหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว เพื่อจะได้มีเวลาที่จะช่วยกันพิจารณาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้เกิดความรอบคอบ
"ในระยะเริ่มต้นใช้กลไกที่มีอยู่ไปพลางก่อน จนกว่าวันหนึ่งเกิดความชำนาญจะแยกตัวอย่างไรก็ค่อยไปทำกัน...เพราะในอนาคตไม่รู้จะมีอะไรเปลี่ยนแปลง" นายมีชัย กล่าว
ส่วนกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นข้อห้ามนักการเมืองแปรญัตติเพื่อจัดสรรงบประมาณมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่มีอยู่เดิมตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญปี 50 กำหนดเอาไว้แล้ว เพียงแต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะกำหนดสภาพบังคับเพิ่มเติมเอาไว้ว่าหากละเมิดจะถูกลงโทษอย่างไร
ส่วนกรณีพรรคการเมืองนอมินีนั้นมีบทลงโทษไว้แล้ว แต่คงจะไปห้ามไม่ให้เข้าสู่การเมืองไม่ได้ เพราะในขณะที่มาสมัครรับเลือกตั้งก็ยังไม่รู้ว่าเป็นนอมินีของใครจนกว่าจะเห็นพฤติกรรม