โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ ร่ำรวยผิดปกติตามมาตรา 75 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 โดยมี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน ซึ่งต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีคำสั่งให้นายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ แสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุคคลอื่นที่ถือทรัพย์สินไว้แทน ตามแบบแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 79 รวมทั้งมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติของนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ คู่สมรส บุตร และบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 78 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จำนวน 49,972,033.62 บาท นั้น
คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณารายงานผลการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า มีเงินจากกลุ่มบริษัทผู้ประกอบการส่งออกที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมิชอบจำนวน 26 บริษัท ได้ฝากเข้าบัญชีเงินฝากของนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ และบุคคลใกล้ชิด เป็นเงิน 415,897,041.98 บาท และยังตรวจพบทรัพย์สินจำนวนมากของนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ ทั้งที่อยู่ในชื่อของตน คู่สมรส บุตร และญาติพี่น้องของคู่สมรส รวมทั้งพฤติการณ์ที่นำทรัพย์สินไปไว้ในชื่อของนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ ไม่สามารถชี้แจงถึงที่มาของทรัพย์สินได้ จึงมติว่านายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ อดีตนักวิชาการสรรพากรชำนาญการพิเศษ สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 27 ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติรวมมูลค่า 597,728,229.48 บาท ให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องต่อศาลให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ตามมาตรา 80 (4) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
นอกจากนี้ทรัพย์สินที่นายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติดังกล่าวข้างต้น ได้มีการถอนปิดบัญชี หรือนำไปจำหน่ายจ่าย โอน หรือซื้อทรัพย์อื่นในชื่อของนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ คู่สมรส บุตร และบุคคลอื่นที่ถือครองแทน ได้แก่ เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร จำนวน 8 บัญชี เงินฝากหลักประกัน ดอกผล และ เงินลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์ จำนวน 5 แห่ง ที่ดิน จำนวน 15 แปลง และรถยนต์จำนวน 1 คัน ที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติด้วย ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งอายัดไว้เป็นการชั่วคราวแล้ว จึงมีมติให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลให้ทรัพย์สินดังกล่าว ตกเป็นของแผ่นดินแทนด้วย ตามมาตรา 83 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ดังกล่าว