ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้ฝากให้ คสช.ช่วยรัฐบาลชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ทั้งเรื่องการแก้ไขปัญหาภัยแล้งหรือเรื่องปากท้อง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย เพราะวันนี้มีเสียงสะท้อนจากกลุ่มต่างๆ ในสังคม เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน โดยไม่ได้พิจารณาว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย แต่นำเรื่องมาปะปนกัน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมร่วม ครม.-คสช.ได้รับทราบแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 สำหรับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีมติที่สำคัญใน 5 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การนับคะแนนเสียงจะใช้หลักเกณฑ์การนับคะแนนเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงที่เห็นชอบในการตัดสินว่าผ่านหรือไม่ผ่านความเห็นชอบ โดยไม่นับคะแนนกรณีบัตรเสียหรือกรณีไม่ออกคะแนนเสียง
2.แก้ไขเรื่องอายุของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงประชามติ โดยกำหนดต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ลงประชามติ
3.แก้ไขเรื่องการแจกร่างรัฐธรรมนูญจากเดิมที่ต้องแจกให้ได้ร้อยละ 80 เปลี่ยนเป็นการแจกจ่าย 1-2 ล้านฉบับไปยังที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และอำเภอแทน รวมถึงการสร้างความรับรู้ผ่านสื่อและช่องทางอื่นๆ ด้วย โดยคาดว่าจะแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนได้ภายใน 29 มีนาคมนี้เป็นต้นไป
4.กำหนดให้มีการตั้งประเด็นเพิ่มเติมได้ โดยให้ สนช.เป็นผู้ตั้งคำถามเพิ่มเติมในการทำประชามติเพียงหน่วยงานเดียว และให้ส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยตรง ไม่ต้องส่งกลับมายัง ครม.อีก
5.ให้ กกต.เป็นผู้กำหนดแนวทางหรือกฎเกณฑ์ในการรณรงค์ชี้แจงทำความเข้าใจในการทำประชามติ โดยจะออกเป็น พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ส่วนผู้ที่ออกมาต่อต้านหรือจงใจขัดขวางการทำประชามตินั้นจะต้องรับผิดชอบและมีบทลงโทษ ซึ่งอยู่ในข้อกำหนดของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และเป็นแนวทางเดียวกับที่ใช้ในการเลือกตั้งทั่วไป
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาจะส่งร่างคำแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวมายังตนเองภายในสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะส่งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วส่งไปยัง สนช.ดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน ก่อนจะส่งกลับมายังนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการในขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมร่วมฯ ยังไม่ได้หารือในกรณีการทำประชามติไม่ผ่านความเห็นจะมีการดำเนินการอย่างไร รวมถึงไม่ได้มีการพูดคุยถึงประเด็นข้อเสนอ 16 ข้อของรัฐบาลที่เสนอไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)