สนช.ค้านแนวคิดกรธ.เลือกส.ว.แบบไขว้ หวั่นเกิดปัญหาหลายอย่าง หนุนระบบสรรหา

ข่าวการเมือง Thursday March 3, 2016 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่เห็นด้วยกับที่มาของวุฒิสมาชิก (ส.ว.) ที่ใช้วิธีการเลือกไขว้ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานฯ กำหนด แต่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่ให้ใช้วิธีการสรรหา

"จากการพิสูจน์ทางวิชาการไม่ปรากฏว่ามีระบบดังกล่าวใช้อยู่ในประเทศใดบ้าง แต่เคยมีการสรรหาหรือการเลือกองค์กรในประเทศไทยที่ให้กลุ่มวิชาชีพเลือกผู้แทนของตนเอง ผลคือมีการสร้างบล็อกโหวตขึ้นมา ถือว่าไม่ได้ผลอย่างเต็มที่ในการจะมีตัวแทนกลุ่มวิชาชีพอย่างแท้จริง" นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าว

ประธาน สนช. กล่าวว่า สนช.เกรงว่าการที่จะรีบด่วนใช้กระบวนการสรรหา ส.ว.แบบไขว้ จะเป็นการเลือกเร็วเกินไปหรือไม่ หรือเป็นการไปทดลองโดยที่ยังไม่มั่นใจหรือไม่ เพราะฉะนั้น สนช.จึงเห็นว่าการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ ที่ใช้มานั้น ถือว่าเป็นระบบที่มีจุดอ่อนและข้อเสียน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับระบบแต่งตั้งและระบบเลือกตั้ง แต่ระบบเลือกตั้งโดยตรงจะไปซ้ำซ้อนกับการเลือก ส.ส.

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เสนอให้มีการใช้วิธีการสรรหา ส.ว.ทั้งหมดในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ส่วนตัวได้พูดไปแล้วว่าหลักการที่จะมี ส.ว.นั้นเพื่ออะไร และควรมาจากกลุ่มบุคคลใดก็ชัดเจนแล้ว และเมื่อ กรธ.เสนอให้ใช่วิธีเลือกไขว้ สนช.ก็มองเห็นว่าจะเกิดปัญหาหลายอย่าง ถ้าให้วิเคราะห์กันจริง ๆ คงต้องพูดกันยาว จึงได้เสนอให้นายมีชัยใช้ระบบสรรหาดีกว่า

ประธาน สนช.กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบ 2 สภา และมีการวุฒิสภาเป็นสภาพี่เลี้ยง ซึ่งในระยะเริ่มต้นมาจากการแต่งตั้ง ด้วยเหตุผลประชาชนไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตย เมื่อเริ่มมีการพัฒนาจนถึงปี 2540 จึงมีวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน และรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นผสมกันระหว่างเลือกตั้งจาก 77 จังหวัดและการสรรหา แต่หลักการวุฒิสภาในปัจจุบันเปลี่ยนไป ไม่จำเป็นต้องมีสภาพี่เลี้ยงให้กับสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นจำเป็นต้องมีตัวแทนจากองค์กรกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ ซึ่งจะมาในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิที่จะคอยดูว่า ร่างกฎหมายที่ผ่านจากสภาผู้แทนฯ โดยคำนึงถึงเสียงของประชาชนทั้งหลายที่ประกอบกันเป็นกลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ

ประธาน สนช. กล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่ได้เป็นการสืบทอดอำนาจตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ยืนยันมาตลอด ดังนั้นจึงต้องดูต่อไป และในบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่เห็นเรื่องการสืบทอดอำนาจ แต่ยังสงสัยอยู่ที่บอกกันว่าให้พรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อ และการลงคะแนนด้วยบัตรใบเดียวแล้วมีผลการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 2 ประเภท ส่วนตัวไม่เห็นว่าไปเกี่ยวข้องกับการสืบทอดอำนาจของ คสช.อย่างไร และ สนช.มีมติไม่เห็นด้วยเรื่องการเลือกตั้งบัตรใบเดียว รวมทั้งการให้พรรคการเมืองเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี

ส่วนมาตรการป้องกันข้อครหา บุคคลที่เป็นคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ไม่ควรเป็น คสช.หรือไม่นั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่ได้ดูเรื่องคณะกรรมการสรรหา จึงไม่อยากไปก้าวล่วง ไม่อยากชี้นำ เพราะมีกระบวนการต่าง ๆ อยู่แล้ว และ กรธ.มีวิจารณญาณที่จะดูว่า คณะกรรมการสรรหาควรมาจากอะไร แน่นอนว่าต้องระมัดระวังเรื่องการสืบทอดอำนาจอยู่แล้ว

ประธาน สนช. กล่าวว่า บทบัญญัติทั้งหมดไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งทุกอย่างคงต้องรอวันที่ 29 มี.ค.59 ที่ร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จสมบูรณ์จะออกมา ส่วน ส.ว.สรรหาจะมีอดีตสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เข้ามาเป็นหรือไม่คงต้องดูกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนก่อน แต่ สนช.มีจุดยืนว่า ระบบการสรรหา ถ้าออกแบบมาให้ถูกต้อง ก็จะเป็นระบบที่มีข้อเสียหายน้อยที่สุด

ส่วนข้อเสนอให้ ส.ว.แก้วิกฤตได้ หาก ส.ว.มาจากการสรรหาจะเป็นเหมือนคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) หรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่อยากอธิบายยาว แต่ถ้าถามว่าทำไม สนช.เสนอเช่นนั้น ก็ต้องดูโจทย์ก่อนรัฐประหารปี 2557 มาเป็นตัวตั้ง เพราะขณะนั้นรัฐธรรมนูญเกิดทางตัน จึงเสนอให้ ส.ว.น่าจะมีบทบาทเข้าไปแก้ไข ส่วนเรื่อง คปป.นั้นไม่มี และส่วนตัวไม่รู้จัก เพราะเรื่องนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ