นายกฯ หนุนส.ว.สรรหาเพื่อสกัดนักการเมืองแก้รธน. แต่ไม่ควรมีอำนาจเลือกนายกฯ

ข่าวการเมือง Tuesday March 8, 2016 17:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการประชุมแม่น้ำ 4
สายเมื่อวานนี้ (7 มี.ค.) ว่า เป็นการติดตามความคืบหน้าการทำงานของแต่ละส่วนงาน เพื่อให้สามารถตอบสังคมได้ว่าขณะนี้ดำเนินการในเรื่องใดไปบ้างแล้ว และเรื่องใดที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ รวมถึงได้หารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เพื่อการทำประชามติ

สำหรับเรื่องที่มา ส.ว.นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกันในที่ประชุม ครม. และส่วนตัวเห็นด้วยกับการมี ส.ว.สรรหาในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ ส.ว.เหล่านั้นเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะมีกลไกของสภาอยู่แล้ว หากเรื่องใดที่เป็นประชาธิปไตยก็พร้อมจะดำเนินการให้ แต่เรื่องใดที่ต้องสงวนไว้ก็ควรใส่ไว้ในบทเฉพาะกาล เพราะเมื่อถึงเวลานั้นตนเองไม่สามารถจะเข้าไปควบคุมทุกฝ่ายได้ และอยากให้กลับไปทบทวนว่าที่ผ่านมาการมี ส.ว.จากการเลือกตั้งมีปัญหาอะไรบ้าง และรับประกันได้หรือไม่ว่าจะไม่ให้ปัญหาเดิมกลับมาอีก ซึ่งการทำงานทุกอย่างไม่มี 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งสำคัญคือต้องทำให้มีธรรมาภิบาล

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงอำนาจ ส.ว. ว่ามีหน้าที่ดูแลรัฐธรรมนูญไม่ให้เกิดปัญหา หรือไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากเกินไป ช่วยดูแลธรรมาภิบาลและการบริหารราชการแผ่นดิน รวมถึงเรื่องปฏิรูป และยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้หากมีปัญหาสามารถเปิดประชุม 2 สภา แต่ไม่ใช่การชี้ผิดชี้ถูกหรือการยุบรัฐบาล เพราะสิ่งเหล่านี้มีกลไกอยู่แล้ว

ส่วนจะทำอย่างไรไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกแก้ไขในช่วง 3-5 ปีหลังจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จำเป็นต้องมี ส.ว.เข้ามาดูแล และเห็นว่าไม่สามารถเขียนล็อคไว้ในรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งทุกคนควรจะเชื่อมั่นในกลไก หรือคนที่จะเข้ามาดูแลรัฐธรรมนูญ เพราะถือเป็นคนที่รับรู้ถึงการแก้ปัญหาและมาจากหลายภาคส่วน

สำหรับข้อกังวลที่นักการเมืองจะเข้ามามุ่งที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่าการบริหารประเทศนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สื่อมวลชนก็ทราบเรื่องนี้ดีอยู่แล้วและควรไปบอกกับนักการเมือง และต้องระวังไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องสภาสูง สภาล่าง จนกลายเป็นสภาเดียว

"ก่อนจะคิดหรือตัดสินใจอะไร ขอให้ทบทวนว่าที่ผ่านมาประเทศไทยเจออะไรมาบ้าง ทั้งความขัดแย้ง ความเดือดร้อน ความไม่เข้มแข็ง ต้องคำนึงว่าสิ่งเหล่านี้จบหรือยัง สิ่งที่เกิดขึ้นผมไม่ได้ต้องการวาดภาพให้เกิดความหวาดกลัว หรือให้ผมอยู่ในตำแหน่งต่อ ต้องดูว่าขณะนี้การเมืองทั้งหมดทุกกลุ่มพร้อมที่จะพัฒนาประเทศแล้วหรือยัง ซึ่งยังไม่มีใครรับรองได้ ทุกวันนี้ผมมีอำนาจยังตีกันขนาดนี้แล้ววันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ดังนั้นเป็นหน้าที่ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปหาวิธีการทำให้ปัญหาเหล่านี้เบาบางลง ซึ่งไม่ใช่ทำให้การแก้ไขปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องการสืบอำนาจของผม เพราะต้องถามว่าสืบไปเพื่ออะไรและเพื่อใคร" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ