โฆษกกรธ.ปรับลดอำนาจศาลรธน. พร้อมให้ศาลฏีกาตรวจสอบนักการเมืองกรณีฝ่าฝืนจริยธรรม

ข่าวการเมือง Tuesday March 8, 2016 18:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กรธ.ได้ปรับแก้ไขในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นการวินิจฉัยกรณีไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบังคับแก่กรณีใด (มาตรา 5/1) หรือมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 จากร่างแรกของ กรธ.ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ปรับเป็นให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วมกับประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสูด และประธานองค์กรอิสระ เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยมติที่ได้นั้นจะมีผลผูกพันกับทุกองค์กร

ทั้งนี้ การปรับเนื้อหาเพราะมีการวิจารณ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากเกินไป ตรงนี้ กรธ.ต้องการลดความกดดันดังกล่าวลง จึงได้คิดแนวทางนี้ขึ้นมาใหม่ อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจหยิบยกเรื่องขึ้นมาพิจารณาเองได้ แต่ต้องรอให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญเห็นว่ากรณีใดที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญส่งเรื่องมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในขั้นตอนแรกศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่าเรื่องที่เสนอมามีบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเห็นว่าไม่มี ก็จะเรียกประชุมร่วมทันที เพื่อหาแนวทางจัดการปัญหาดังกล่าวต่อไป

นอกจากนี้ กรธ.ยังได้ปรับลดคุณสมบัติในเรื่องอายุของบุคคลที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 45 ปี แต่ไม่เกิน 75 ปี เป็นไม่ต่ำกว่า 45 ปี แต่ไม่เกิน 68 ปีในวันที่ได้รับการคัดเลือก และยังปรับลดวาระการดำรงตำแหน่ง จากเดิม 9 ปี มาเป็น 7 ปี

โฆษก กรธ.ปฏิเสธว่า กรณีนี้ไม่ได้เป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) กลายร่างตามที่เป็นข่าว แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการเข้าไปแทรกแซงอำนาจอื่น ๆ เช่น กรณีการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 ก.พ.57 ที่มีการถกเถียงระหว่างรัฐบาลรักษาการ กับ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าสามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้หรือไม่ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานนี้จะต้องมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งยื่นเรื่องเข้ามาที่ศาลรัฐธรรมนูญ ในขณะที่ คปป.มีอำนาจมากกว่านี้ เช่น เมื่อเกิดปัญหาแต่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ก็ให้ คปป.เข้ามาจัดการ

โฆษก กรธ. กล่าวว่า กรธ.ยังได้ปรับเปลี่ยนเรื่องการวินิจฉัยกรณีมีการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ตามมาตรา 231 จากเดิมที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณานั้น กรธ.ได้มีการปรับแก้ให้ ป.ป.ช.ส่งเรื่องไปให้ศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย แต่ถ้ากรณีที่ ป.ป.ช.เป็นผู้ฝ่าฝืนจริยธรรมเอง ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระขึ้นมาตรวจสอบ จากนั้นก็ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย

โฆษก กรธ. กล่าวว่า กรธ.ยังได้ปรับเปลี่ยนการพิจาณาคดีของนักการเมืองในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากเดิมที่พิจารณาอุทธรณ์ได้เฉพาะข้อกฎหมายและพยานหลักฐานใหม่ ปรับเปลี่ยนเป็นสามารถอุทธรณ์ได้ทั้งในประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงภายใน 30 วัน พร้อมปรับเปลี่ยนองค์คณะศาลฎีกาในชั้นต้น จากเดิม 9 คน เป็นไม่น้อยกว่า 5 คน แต่ไม่เกิน 9 คน ขณะที่องค์คณะของศาลฎีกาในชั้นอุทธรณ์มีจำนวน 9 คน มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกมาจากผู้พิพากษาในศาลฎีกา จากผู้ที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้าคณะในศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโส ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ