ทางสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ขอคัดค้านการใช้อำนาจที่เกินความจำเป็น อันขัดต่อเจตนารมณ์ของมาตรา 4 และ 5 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ประกอบ พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 โดยชัดแจ้ง เนื่องจากคำสั่งดังกล่าว ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ แต่อย่างใด อีกทั้งเป็นการส่งเสริมความขัดแย้งและแตกความสามัคคีของประชาชนในชาติ เพราะจะทำให้ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมทั่วประเทศออกมาคัดค้านกันอย่างมากมาย รวมทั้งเป็นการทำลาย “หลักการ" ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างสิ้นเชิง ที่มุ่งเน้น “หลักการป้องกันไว้ล่วงหน้า" หรือ Precautionary Principle โดยการกำหนดให้โครงการหรือกิจกรรมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (36+11 ประเภท) จะต้องจัดทำ EIA/EHIA เพื่อให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเสียก่อนเท่านั้น
คำสั่ง คสช.ที่บัญญัติว่า “ระหว่างที่รอผลการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA) ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการ อาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกชนผู้รับดำเนินการตามโครงการหรือกิจการไปพลางก่อนได้นั้น" จึงเป็นการทำลายหลักการหรือเจตนารมณ์ที่สำคัญของกฎหมายแห่งชาติ เป็นการใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์หรือคืนความสุขให้กลุ่มทุนเท่านั้น และจะเป็นการบีบบังคับการทำหน้าที่ของ คชก. ให้จำต้องให้ความเห็นชอบรายงาน EIA/EHIA ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปก่อนล่วงหน้าแล้ว
"สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงขอเรียกร้องมายังหัวหน้า คสช. ได้โปรดทบทวนการออกคำสั่งที่เกินความจำเป็นดังกล่าวเสีย และหาก คสช.ยังเดินหน้าต่อคำสั่งนี้สมาคมฯและเครือข่ายจะนำความนี้ขึ้นร้องเรียนต่อศาลปกครองสูงสุดและหรือศาลรัฐธรรมนูญตามความในมาตรา 5 ประกอบมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ต่อไป"