ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมบทบาทของ UNCTAD ในการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างการค้า การลงทุน เทคโนโลยี และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมาได้ให้ความช่วยเหลืออย่างมากแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการรวมตัวเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลก และไทยพร้อมสนับสนุนการทำงานของ UNCTAD โดยเฉพาะในปีนี้เป็นโอกาสดีที่ UNCTAD และกลุ่ม 77 จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมทุกภาคส่วน นอกจากนี้เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรี เห็นว่า ควรมีกลไกเชื่อมโยงระหว่างประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงการยอมรับข้อแตกต่างระหว่างกัน เพราะประเทศกำลังพัฒนาเมื่อมีการรวมกลุ่ม เช่น กลุ่ม 77 จะเป็นพลังสำคัญ และตลาดที่ใหญ่ ทำให้มีอำนาจต่อรองเนื่องจากเป็นประเทศที่มีแหล่งวัตถุดิบ มีทรัพยากรธรรมชาติ แร่ธาตุ อัญมณีที่อุดมสมบูรณ์
นายกรัฐมนตรี เห็นว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศควรเริ่มจากการสร้างการเติบโตภายในประเทศ โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เน้นการมีส่วนร่วมของกลไกประชารัฐ (People Public Private Partnership-PPPP) ซึ่งรวมถึงภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชน เพื่อให้ความร่วมมือต่าง ๆ เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริงและยั่งยืน เป็นการเติบโตโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเข้มแข็งไปพร้อม ๆ กัน
สำหรับการประชุมรัฐมนตรี UNCTAD ครั้งที่ 14 ที่จะจัดขึ้นที่เคนยาในปีนี้ นายกรัฐมนตรียังเสนอให้ความสำคัญกับการหารือในประเด็นการใช้การค้าและการลงทุนเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งปรับปรุงระบอบเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่จะป้องกันการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ โดยการประชุมดังกล่าวมีความสำคัญ เนื่องจากจะเป็นการประชุมระหว่างประเทศระดับสูงครั้งแรกที่จัดขึ้นภายหลังจากที่ประชาคมระหว่างประเทศให้การรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030
ขณะที่เลขาธิการ UNCTAD รู้สึกยินดีที่จะได้เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์พัฒนาชุมชนเขาหินซ้อน เพื่อศึกษาดูงานเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะช่วยให้มีความเข้าใจต่อแนวคิดปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์จากการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต รวมทั้งนำหลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้กับงานด้านการพัฒนาของ UNCTAD ต่อไป เพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อีกด้วย