โดยนายธาริตระบุว่า อนุกรรมการไต่สวนฯ ได้แจ้งข้อกล่าวหาถึง 2 ครั้ง โดยได้นำเอาเงินฝากหมุนเวียนผ่านบัญชีของตนเองและภรรยาที่เปิดไว้กับธนาคารต่างๆ ซึ่งเป็นการฝากและใช้จ่ายตามปกติทุกรายการที่ปรากฏในบัญชีธนาคาร ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งอธิบดี DSI (พ.ศ.2552-2557) และย้อนหลังไปก่อนดำรงตำแหน่งหลายปีบวกทบๆกัน โดยไม่ได้พิจารณาว่าเป็นเงินทุนหมุนเวียนและเป็นการคิดคำนวณที่ไม่เป็นตามหลักบัญชี รวมทั้งทรัพย์สินอื่นมาบวกรวมกันให้เห็นว่า ตนเองมีทรัพย์สินที่มากเกินความเป็นจริงแล้วกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ทั้งที่ทรัพย์สินส่วนใหญ่ก็ไม่มีอยู่จริงและทุกรายการก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การมีหรือได้มาทรัพย์สินตามที่กล่าวหานั้นเป็นการไม่ชอบหรือไม่มีเหตุอันควรหรือมีพฤติการณ์ที่ร่ารวยผิดปกติอย่างไร
ยกตัวอย่าง เช่น บัญชีธนาคารแห่งหนึ่งที่ภรรยาของตนเองใช้ฝากเงินเพื่อหมุนเวียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 6 ล้านบาท ตลอดเวลา 5 ปี ที่ตนเองดำรงตำแหน่งอธิบดี DSI ย่อมมีการถอนออกแล้วฝากเข้าเป็นปกติของการซื้อขายหุ้น แต่อนุกรรมการฯ ใช้วิธีนำเอาเฉพาะรายการฝากทุกๆ ครั้งบวกทบๆ กัน จึงทำให้ยอดบัญชีสูงถึง 86 ล้านบาท ทั้งที่ตัวเงินจริงมีเพียง 6 ล้านบาทที่หมุนเวียน เป็นต้น
"การกล่าวหาว่าข้าพเจ้าร่ำรวยผิดปกติจึงมีความคลุมเครือไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้เข้าใจข้อกล่าวหาได้ดี และไม่อยู่ในวิสัยที่วิญญูชนจะสามารถจดจำนำหลักฐานมาชี้แจงข้อกล่าวหาได้ ซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยระเบียบตามข้อ 37 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 47 และมาตรา 125" เอกสารชี้แจง ระบุ
ประการสำคัญ อนุกรรมการฯ ใช้วิธีคิดคำนวณรายได้จากเงินเดือน และค่าตอบแทนเฉพาะการรับราชการของตนเองและภรรยาเท่านั้น ไม่ได้ตรวจสอบถึงรายได้จากการทำธุรกิจ เช่น การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ การซื้อขายที่ดิน และการลงทุนในทรัพย์สินอื่นๆ เช่น ทองคำ และอัญมณี ซึ่งในปัจจุบันการมีรายได้จากธุรกิจต่างๆ ของข้าราชการเป็นเรื่องปกติที่กระทำได้โดยชอบ ยิ่งไปกว่านั้นไม่มีพยานหลักฐานหรือพฤติการณ์ใดๆ เลยที่แสดงว่า ตนเองมีทรัพย์สินเหล่านั้น หรือได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบหรือโดยไม่ถูกต้อง
นายธาริต ระบุว่า ตนเองขอตั้งคำถามต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังต่อไปนี้ 1.วิธีคิดคำนวณทรัพย์สินของตนเองเป็นไปตามหลักการทางบัญชีที่คนปกติเขาใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันหรือไม่ 2.การปฏิบัติต่อข้าพเจ้าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และ 3.ได้ปฏิบัติกับตนเองเท่าเทียมกับปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ หรือไม่
ทั้งนี้ ตนเองได้แต่งตั้งทนายความขึ้นต่อสู้ในชั้นศาลยุติธรรมต่อไป และหากในที่สุดศาลตัดสินว่า ตนเองไม่ได้กระทำผิดตามที่ ป.ป.ช.มีมติแล้ว ถึงตอนนั้น ป.ป.ช.จะรับผิดชอบต่อความไม่เป็นธรรมที่ได้กระทำกับตนเองหรือไม่ อย่างไร