สนช.ผ่านร่างแก้ไข รธน.ฉบับชั่วคราวปี 57 ประเด็นทำประชามติ 3 วาระรวด

ข่าวการเมือง Thursday March 10, 2016 18:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ประเด็นการทำประชามติ ด้วยคะแนน 192 งดออกเสียง 3 จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม 195 คน โดยใช้เวลาพิจารณาทั้งสิ้นรวม 6 ชั่วโมง

รายงานข่าว แจ้งว่า ในการประชุมที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ เพื่อพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยเป็นการพิจารณาแบบสามวาระรวด ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนมาร่วมประชุม

นายวิษณุ ชี้แจงว่า เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ครั้งที่ 2 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความจำเป็นที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเงื่อนไขประชามติร่างเดิมยังไม่มีความชัดเจนนำไปปฏิบัติได้ยาก หรือหากปฏิบัติได้ก็จะไม่เป็นธรรม จึงจำเป็นต้องแก้ไข

โดยขอแก้ไขมาตราเดียวคือ มาตรา 39/1 แต่มี 5 ประเด็น ได้แก่ 1.หลักเกณฑ์เรื่องประชามติให้ใช้คะแนนเสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิประชามติที่ออกเสียงให้ความเห็นชอบ 2.การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามผู้มาใช้สิทธิลงประชามติ ต้องไม่มีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามตามกฎเกณฑ์การเลือกตั้งทั่วไปครั้งสุดท้ายเมื่อต้นปี 57 และกำหนดให้ผู้ที่มีอายุอย่างน้อย 18 ปีในวันลงประชามติ เป็นผู้มีสิทธิลงประชามติ 3.การแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญไม่ต้องใช้หลักเกณฑ์การแจกร่างรัฐธรรมนูญให้ได้ 80% ของครัวเรือนที่มีสิทธิออกเสียงประชามติ แต่เปิดโอกาสให้เผยแพร่รัฐธรรมนูญโดยวิธีอื่นได้ตามที่ กกต.กำหนด 4.กำหนดให้ สนช.ตั้งประเด็นคำถามเพิ่มเติมในการทำประชามติ นอกเหนือจากเรื่องร่างรัฐธรรมนูญได้ และ 5.ให้ กกต.ออกกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์และการออกเสียงประชามติ ขณะนี้ กกต.จัดทำ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติเสร็จแล้วมี 60 มาตรา จะเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันที่ 15 มี.ค.นี้

หลังจากนั้นประธานในที่ประชุมฯ เปิดโอกาสให้สมาชิกแสดงความเห็นต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ในวาระรับหลักการ ซึ่งสมาชิก สนช.ต่างแสดงความเห็นในทิศทางเดียวกันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ให้เกิดความชัดเจนเรื่องการนับคะแนนประชามติ

โดยนายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล สมาชิก สนช.อภิปรายว่า กรณีการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เช่น การระบุว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยจะมีมาตรการหรือบทลงโทษจัดการเรื่องนี้อย่างไร อยากเสนอให้มีการเผยแพร่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญผ่านวิทยุและโทรทัศน์ให้มากที่สุดเพราะเข้าถึงประชาชนได้ง่าย หากใช้วิธีแจกจ่ายเป็นเอกสาร อาจไปไม่ถึงมือชาวบ้าน

ขณะที่สมาชิก สนช.ที่เป็นอดีตกลุ่ม 40 ส.ว.ต่างอภิปรายสนับสนุนให้เขียนบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีกลไกขับเคลื่อนช่วงเปลี่ยนผ่านมาควบคุมไม่ให้เกิดวิกฤต เช่น นายตวง อันทะไชย อภิปรายว่า สนับสนุนให้มีกลไกมาขับเคลื่อนช่วงเปลี่ยนผ่าน อาจนำประเด็นช่วงเปลี่ยนผ่านไปตั้งเป็นคำถามการทำประชามติของ สนช. เช่น เรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มาตั้งเป็นคำถามก็ได้

นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิก สนช. อภิปรายว่า หากกลับไปสู่ประชาธิปไตยสากลโดยเร็ว ทั้งๆ ที่ยังแก้ปัญหาการเมืองไม่ได้ คงไปสู่ประชาธิปไตยใสสะอาดไม่ได้ จึงควรมีบทเฉพาะกาลมาขับเคลื่อนไปสู่ประชาธิปไตยช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่เพื่อให้การเมืองเข้มแข็ง มีเสถียรภาพ ส่วนประเด็นที่มา ส.ว.ถ้าอยากได้ ส.ว.ในลักษณะผู้ทรงคุณวุฒิก็ไม่ต้องไปสนใจประเด็นเล็กน้อยว่าจะอยู่กี่ปี หรือจะมีอำนาจหน้าที่มากน้อยเพียงใด ควรมุ่งเรื่องผลสัมฤทธิ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านมากกว่า

ทั้งนี้หลังจากสมาชิก สนช.อภิปรายให้ความเห็นเป็นเวลา 2 ชั่วโมงกว่า ที่ประชุม สนช.จึงลงมติเห็นชอบรับหลักการวาระแรกด้วยคะแนนเสียง 194 ต่อ 0 งดออกเสียง 3

ต่อจากนั้นเวลา 14.30 น.ที่ประชุมฯ เข้าสู่การอภิปรายวาระสอง เรียงลำดับรายมาตรา โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่หนึ่ง เสนอให้แก้ไขข้อความในมาตรา 4 วรรค 9 และ วรรค 12 เกี่ยวกับการเพิ่มเติมถ้อยคำคะแนนเสียงลงประชามติเพื่อให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยขอเพิ่มข้อความในวรรค 9 ว่า "ถ้าผลการออกเสียงประชามติมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ" และเพิ่มข้อความวรรค 12 เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติในกรณีที่ สนช.เสนอประเด็นเพิ่มเติมในการลงประชามติ โดยเพิ่มข้อความว่า "ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากระหว่างคะแนนเสียงเห็นชอบ และไม่เห็นชอบเป็นเกณฑ์"

นายวิษณุ ชี้แจงว่า การเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ สนช.นั้น ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 สนช.ไม่มีอำนาจเสนอแก้ไขได้ ต้องให้ ครม.มีมติแก้ไข อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ ครม.เห็นด้วยกับการเสนอแก้ไขของ สนช. เพราะจะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ครม.มีมติมอบให้นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เป็นผู้พิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้เห็นชอบกับการแก้ไขในครั้งนี้แล้ว จากนั้นนายพรเพชรสั่งพักการประชุม เพื่อขอหารือในประเด็นที่มีการขอแก้ไขเพื่อความรอบคอบอีกครั้ง

ต่อมาเวลา 15.55 น.มีการเปิดประชุม สนช.อีกครั้ง โดยนายวิษณุชี้แจงว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความเพื่อให้มีความชัดเจนขึ้น โดยถือเป็นข้อเสนอของ ครม.และ คสช.ใน 3 ประเด็นได้แก่ 1.วรรคเจ็ด เรื่องการตั้งคำถามทำประชามติของ สนช. จากเดิมที่ให้ สนช.เป็นผู้เสนอคำถามเพียงฝ่ายเดียว แก้ไขเป็น ให้ สนช.รับฟังความคิดเห็นจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ประกอบการพิจารณาตั้งคำถามประชามติด้วยภายในเวลา 10 วัน 2.วรรคเก้า เรื่องเกณฑ์การชี้ขาดการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จากเดิมระบุว่า "ถ้าคะแนนเสียงข้างมากของผู้ออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน" แก้ไขเป็น "ถ้าผลการออกเสียงประชามติมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน" 3.วรรคสิบสอง จากเดิมระบุว่า "ให้นำมาตรา 39 มาใช้บังคับแก่การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญด้วยโดยอนุโลม และในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอประเด็นเพิ่มเติมให้นำมาตรา 37/1 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากของผู้ออกเสียงประชามติเป็นเกณฑ์ และไม่ต้องให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ" แก้ไขเป็น "ให้นำมาตรา 39 มาใช้บังคับแก่การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญด้วยโดยอนุโลม และในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอประเด็นเพิ่มเติมให้นำมาตรา 37/1 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากระหว่างเสียงเห็นชอบกับไม่เห็นชอบเป็นเกณฑ์ และไม่ต้องให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ