อย่างไรก็ตาม คงต้องขอเวลาดูรายละเอียดของข้อเสนอที่ส่งมาก่อน พร้อมระบุอีกว่า ยังมีข้อเสนอที่นอกเหนือไปจากประเด็นที่มาของส.ว.อีกหลายเรื่อง
สำหรับข้อเสนอดังกล่าว กรธ.พร้อมที่จะเปิดเผยให้ทุกคนได้รับทราบ เพราะไม่ใช่เรื่องที่เป็นความลับ โดยจะมอบหมายให้ทางโฆษกกรธ.เป็นผู้ดำเนินการ
ด้านนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกรธ.ได้หารือและรับทราบเกี่ยวกับหนังสือความเห็นการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามที่คสช. ส่งมาเรียบร้อยแล้ว โดยหลังจากนี้ กรธ.จะขอเวลาในการพิจารณาและศึกษารายละเอียดก่อนที่จะปรับปรุงแก้ไข
ส่วนการเปิดเผยสาระสำคัญของเนื้อหาทั้งหมดนั้นได้รับการประสานจากทางรัฐบาลว่าในวันที่ 15 มี.ค. จะนำรายละเอียดของข้อเสนอดังกล่าวนำเข้าที่ประชุม ครม. ด้วย และรัฐบาลจะถือโอกาสนี้แถลงชี้แจงและอธิบายสาระสำคัญของรายละเอียดที่เสนอให้กรธ.พิจารณามีประเด็นใดบ้าง
"ข้อเสนอที่ คสช.มีมาถึง กรธ.เป็นข้อเสนอที่ต้องการให้มีการทำบทเฉพาะกาล เพราะฉะนั้นเราจึงไม่สามารถลงรายละเอียดในช่วงนี้ ที่ประชุมกรธ.จึงขอให้สมาชิกแต่ละคนกลับไปอ่าน และคิดก่อนว่าจะเห็นชอบหรือดำเนินการอย่างไร...ขอย้ำว่าไม่มีใครมาสั่งกรธ.ได้ เพราะเราทำตามที่รัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งกำหนดให้ต้องรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายและเราก็ไม่รู้สึกกดดันหรือหนักใจเลย เราทำตามหน้าที่ ซึ่งจะต้องดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 มี.ค.นี้ ขอให้มั่นใจว่าเราทำเสร็จทันเวลาแน่นอน" โฆษกกรธ.กล่าว
สำหรับเหตุผลที่ กรธ.ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้นั้น เนื่องจากอาจจะทำให้เกิดความสับสนได้ถ้ากรธ.พูดไปก่อนโดยที่รัฐบาลและคสช.ยังไม่พร้อมอธิบาย ดังนั้นควรให้รัฐบาลในฐานะเจ้าของเรื่องเป็นผู้อธิบายจะเหมาะสมกว่า แต่เบื้องต้นในหนังสือที่ส่งมาไม่ได้มีรายละเอียดที่ซับซ้อน แต่ในขั้นตอนของการนำเสนอจำเป็นต้องให้กรธ.มานั่งคิดต่อ เพราะผลของการที่จะมีข้อเสนอที่แตกต่างจากข้อเสนอที่ร่างไว้ในเบื้องต้น ทำให้ต้องคิดว่ากรธ.ควรจะยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเสนอดังกล่าวเท่าที่พิจารณาแล้วมีความสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติหรือไม่ นายอุดม กล่าวว่า ทุกข้อเสนอที่ส่งมามีความสุ่มเสี่ยงเท่ากันหมด เพราะถ้ากรธ.ไม่แก้ไขตามที่ทุกส่วนเสนอความเห็นเข้ามาก็มีความสุ่มเสี่ยงเช่นกัน