ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญดังกล่าว ได้แก่ 1.กำหนดให้มี ส.ว.จำนวน 250 คนที่มาจากการคัดสรรผ่านคณะกรรมการฯ มีวาระ 5 ปี ไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี แต่เข้ามาทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญเพื่อถ่วงดุลอำนาจไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปในทิศทางที่สังคมไม่เห็นด้วย และขับเคลื่อนภารกิจยุทธศาสตร์ชาติเพื่อไม่ให้รัฐบาลเลือกตั้งเข้ามาทำอะไรตามอำเภอใจเพื่อหวังคะแนนนิยม โดยไม่ได้ปฏิรูปอย่างจริงจัง ตลอดจนการกลั่นกรองกฎหมาย ไม่ได้มุ่งหวังสืบทอดอำนาจ
"เพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่เกิดทางตันแบบในอดีตวนเวียนกลับมาอีก...เพื่อไม่ให้เสียง ส.ส.ในสภามีการตกลงออกความคิดความเห็นไปทำเรื่องราวต่างๆ ที่ขัดต่อความรู้สึกของสังคมโดยรวมเช่นออกกฎหมายนิรโทษกรรม" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
2.ในบทเฉพาะกาลในการเลือกตั้งครั้งแรกที่จะมีขึ้นให้กำหนดการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรกใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ คือ ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เพื่ออุดช่องโหว่เรื่องปิดทางการแข่งขันของพรรคการเมืองขนาดเล็ก เพราะอาจไม่มีกำลังส่ง ส.ส.ได้ครบทุกเขต
และ 3.ในการเลือกตั้งครั้งแรกนี้ยังไม่ต้องมีการเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐธรรมนูญ 3 รายชื่อตามที่ กรธ.เสนอในร่างแรก เพราะอาจมีปัญหาไม่สามารถหาข้อยุติได้ ซึ่งจะกลายเป็นทางตันที่ไม่สามารถนำคนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้
พล.ต.สรรเสริญ ยังเปิดเผยอีกว่า ที่ประชุม ครม.วันนี้ยังเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เสนอมา โดยมีสาระสำคัญคือ มาตรา 10 กำหนดให้ กกต.รับผิดชอบจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อลดความสุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมาย, มาตรา 44 รายละเอียดของบัตรเสียได้แก่ บัตรปลอม บัตรที่ไม่ได้ทำเครื่องหมาย บัตรที่เขียนข้อความนอกเหนือจากที่กำหนดลงไป, มาตรา 62 การกำหนดความผิด เช่น ฉีกบัตร ปลุกระดมการจ้างวานให้ล้มการทำประชามติ การห้ามทำโพลล์/เปิดเผยผลโพลล์ช่วง 7 วันสุดท้ายก่อนการลงประชามติ โดยเบื้องต้นกำหนดวันลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559
นอกจากนั้น ยังมีการปรับแก้เปิดทางให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) สามารถเสนอคำถามในการทำประชามติได้ แต่ไม่ได้ให้เสนอโดยตรง ต้องเสนอผ่าน สนช.ส่วน สนช.จะเอามาเป็นคำถามหรือไม่ก็เป็นสิทธิของ สนช.ไปบังคับไม่ได้ แต่ถ้า สนช.เอามาเป็นคำถามก็ต้องเป็นไปในนามของ สนช. ซึ่งเบ็ดเสร็จเรียบร้อยจะเสนอได้เพียงคำถามเดียวที่ให้เสนอไปยัง กกต.ได้เลย