นิด้าโพล เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) เสนอให้มีการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้ามาเป็น ส.ว.สรรหาโดยตำแหน่งในช่วงเปลี่ยนผ่านประมาณ 5 ปี โดยประชาชนส่วนใหญ่ 49.31% เห็นด้วย เพราะทำให้ ส.ว.สรรหาที่เข้ามีความหลากหลายทางอาชีพ ซึ่งผู้บัญชาการเหล่าทัพนั้นเป็นผู้ที่มากด้วยความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ จะได้เข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหาของประเทศ เป็นการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงในการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารงาน น่าจะมีระบบการทำงานที่ดีขึ้น แต่ประชาชนอีก 42.07% ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของทหาร อาศัยระบบพวกพ้อง และเป็นการใช้อำนาจทางทหารมากเกินไป อาจเกิดปัญหาความขัดแย้งภายหลัง ควรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง ส.ว. จะดีกว่า หรือควรมาจากกลุ่มอาชีพอื่น ๆ เช่น กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น
นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ 52.08% เห็นด้วยที่จะมี ส.ว.สรรหา เข้ามาควบคุมและกำหนดทิศทางการบริหารประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านประมาณ 5 ปี เพื่อให้บ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อีกทั้งได้ตรวจสอบและควบคุมดูแลการทำงานของรัฐบาลได้ แต่ประชาชน 40.64% ไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่า ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือให้มีการเลือกตั้งด้วยส่วนหนึ่ง อีกทั้งระยะเวลา 5 ปีนานเกินไป อาจเป็นการสืบทอดอำนาจ และอาจเป็นการนำเอาพรรคพวกตนเองเข้ามา
ส่วนความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการให้สมาชิก คสช. เข้ามาเป็น ส.ว.สรรหาในช่วงเปลี่ยนผ่านประมาณ 5 ปี ประชาชนส่วนใหญ่ 51.36% เห็นด้วย เพราะมองว่ามีความรู้ด้านกฎหมายและชอบการทำงานของ คสช.ที่เข้ามาดูแลเรื่องคอร์รัปชัน ดูจากผลงานที่ผ่านมาของ คสช. ทำงานได้ดี แต่ประชาชนอีก 44.64% ไม่เห็นด้วย เพราะ ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่อยากให้ คสช.มีอำนาจทางการเมืองเพราะจะเป็นการสืบทอดอำนาจ
ขณะที่ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บางส่วน เข้ามาเป็น ส.ว.สรรหาในช่วงเปลี่ยนผ่านประมาณ 5 ปี ประชาชนส่วนใหญ่ 53.76% เห็นด้วย เพราะดูจากการทำงานที่ผ่านมา สนช.หลายคนสามารถเป็น ส.ว.ได้ ซึ่งหลาย ๆ ท่านมีความรู้ความสามารถด้านกฎหมายจะได้ช่วยกันควบคุมและปรับปรุงการทำงาน แต่ประชาชนอีก 36.72% ไม่เห็นด้วย เพราะ ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และอยากให้เปลี่ยนชุดใหม่ไม่ต้องการให้คนที่ออกกฎหมายมาเป็นคนตรวจสอบกฎหมายเอง บางส่วนมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ ในขณะที่บางส่วนบอกว่าควรสรรหาจากบุคคลภายนอก (ที่ไม่ใช่ สนช.) ดีกว่า
ด้านความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) บางส่วน เข้ามาเป็น ส.ว.สรรหาในช่วงเปลี่ยนผ่านประมาณ 5 ปี ประชาชนส่วนใหญ่ 54.80% เห็นด้วย เพราะดูจากการทำงานที่ผ่านมา สปท. หลายคนสามารถเป็น ส.ว.ได้ ซึ่งหลาย ๆ ท่านมีความรู้ความสามารถด้านกฎหมาย แต่ประชาชนอีก 36.16% ไม่เห็นด้วย เพราะ ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และอยากให้เปลี่ยนชุดใหม่เพื่อไม่ให้ดูเป็นการสืบทอดอำนาจ
ทั้งนี้ นิด้าโพลล์ได้สำรวจความคิดเห็นดังกล่าวจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,250 ราย ระหว่างวันที่ 14-15 มีนาคมที่ผ่านมา