นายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ประจำสำนักงานประธานศาลฎีกา เป็นตัวแทนของนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อเสนอความคิดเห็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ
โดยศาลยุติธรรมเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขัดต่อหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ และหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เพราะการสั่งคุมประพฤติ การกระทำกิจการบริหารสังคมหรือสาธารณประโยชน์ และสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีอาญาที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีได้ โดยไม่ผ่านการพิจารณาของศาลเลย และปราศจากกระบวนการพิสูจน์ความผิดของบุคคลนั้นจะส่งผลกระทบต่อการอำนวยการยุติธรรมที่โปร่งใสและตรวจสอบได้
ทั้งนี้ หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวประกาศใช้จะเป็นการตัดสิทธิของผู้เสียหาย เนื่องจากมีบทบัญญัติที่ตัดสิทธิของผู้เสียหายที่ประสงค์จะใช้สิทธิทางศาล และมีบทบัญญัติห้ามไม่ให้ศาลดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีต่อไป แม้กระทั่งกรณีที่ผู้เสียหายประสงค์จะใช้สิทธิทางศาล และนำคดีมาฟ้องต่อศาลแล้วก็ตาม ขณะที่ระยะเวลาและอายุความในการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีอาญาอาจขยายไปได้จนแทบไม่มีข้อกัด หากมีคำสั่งให้ใช้มาตรการแทนการฟ้องอันจะทำให้พยานหลักฐานที่สำคัญสูญหายไปจนไม่สามารถพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาได้ และจะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมของไทยในระยะยาว
"ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกเสนอมาตั้งแต่ปี 2532 แต่ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวก็ยังไม่ถูกนำเข้าการพิจารณาของสภาฯ และสำนักงานศาลยุติธรรมได้เคยทำหน้าที่แสดงข้อกังวลหลายครั้ง แต่ปรากฏว่ายังไม่มีการแก้ไขข้อห่วงใยดังกล่าวเลย หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นของ สนช. ทางศาลก็มีความเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบต่อสังคมและกระบวนการทางอาญา จึงขอให้ สนช.ช่วยพิจารณาด้วย" นายชาญณรงค์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และอยู่ระหว่างการเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนที่จะส่งให้สนช.พิจารณา
ด้านนายพรเพชร กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นอยากให้เกิดความขัดแย้งระหว่างองค์กรขึ้น อยากให้ทุกฝ่ายรับฟังความเห็น ในเมื่อคนระดับประธานศาลฎีกาส่งสัญญาณมาก็ต้องรับฟัง ซึ่งทางตัวแทนของศาลฎีกาก็ได้ไปยื่นเรื่องนี้ให้รัฐบาลแล้ว เพราะร่างกฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ครม.
"การที่มายื่นเรื่องต่อ สนช.ก็เพื่อเป็นการดักคอไว้ก่อนที่จะถูกส่งมาให้ สนช.พิจารณา เพราะร่างนี้ผ่านเป็นกฎหมาย คดีรถเบนซ์ก็อาจจะไม่ต้องถึงศาลก็ได้" นายพรเพชร กล่าว