นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กรธ.เห็นด้วยกับข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สายในประเด็นที่มาสมาชิกวุฒิสภา โดยในระยะ 5 ปีแรกให้มี ส.ว. 250 คน แต่ขอให้จำนวน 50 คนใน 250 คนมาจากวิธีการสมัคร 20 กลุ่มในระดับอำเภอคัดเลือกกันเอง โดยการเลือกไขว้ขึ้นมาถึงระดับประเทศจนเหลือ 231 คน จากนั้นให้คณะกรรมการสรรหาเป็นผู้เลือกให้เหลือ 50 คน ซึ่งอย่างน้อยต้องมาจากกลุ่มละ 2 คน
ส่วนที่เหลืออีก 200 คนนั้นจะให้คณะกรรมการสรรหาชุดเดียวกัน ซึ่งตั้งขึ้นโดยการกำหนดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือรัฐบาล รวมทั้งกำหนดวิธีการสรรหาด้วย เนื่องจาก กรธ.เห็นว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ผู้รับผิดชอบต่อบ้านเมืองควรจะได้กำหนดในสิ่งที่เห็นว่าเหมาะสม อย่างไรก็ดี จะยอมให้มี ส.ว.ที่มาจาก คสช.หรือข้าราชการประจำได้ไม่เกิน 2.5% ของจำนวน ส.ว.ทั้งหมดหรือไม่เกิน 6 คน
ทั้งนี้ อำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ในช่วงบทเฉพาะกาลหรือช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น ยังให้อำนาจพิเศษในการผลักดันและร่วมพิจารณากฎหมายปฏิรูปการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีอำนาจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
"เป็นการพบกันครึ่งทาง 200 คน สรรหาอย่างที่ขอ อีก 50 คนให้เราได้ทดลองวิธีการเลือกกันเอง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงระบบการเลือก" โฆษก กรธ.กล่าว
โฆษก กรธ. กล่าวต่อถึงกรณีของที่มา ส.ส.ว่า จากหนังสือของแม่น้ำ 4 สายที่ระบุว่ามีผู้เสนอจำนวนมากว่าอยากให้มีการกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และให้มีเขตเลือกตั้งใหญ่นั้น กรธ.มองว่าไม่ใช่ข้อเสนอจากแม่น้ำ 4 สายเองอย่างชัดเจน และ กรธ.เห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่เข้ากับหลักการที่ กรธ.กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงยืนยันจะใช้วิธีการเลือกตั้งแบบ MMP คือกาใบเดียว โดยไม่ต้องระบุในบทเฉพาะกาล
นายนรชิด ยังกล่าวถึงกรณีที่แม่น้ำ 4 สายขอให้ยกเว้นเงื่อนไขการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีพรรคละไม่เกิน 3 ชื่อก่อนเลือกตั้งว่า กรธ.เห็นว่าเหตุผลที่ระบุมาว่าอาจจะเกิดปัญหาอุปสรรคในการตั้งรัฐบาล เช่น ผู้ถูกเสนอชื่อถอนตัว, ขาดคุณสมบัติภายหลัง หรือไม่อาจตกลงกันในระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลนั้น กรธ.จึงยังคงยืนยันในหลักการเดิม แต่จะแก้ไขปัญหาด้วยการเปิดช่องให้เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร (มากกว่า 250 เสียง ใน 500 เสียง) สามารถขอเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อขอมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของรัฐสภา (มากกว่า 500 เสียง ใน 750 เสียง) ยกเว้นเงื่อนไขการเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีให้อยู่นอกบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอก่อนเลือกตั้งได้ จากนั้นให้สภาผู้แทนราษฎรเสนอชื่อและลงมติให้ได้ภายใน 90 วัน โดยวุฒิสภาไม่เกี่ยวข้อง และหากยังเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ก็ต้องยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่
ส่วนจะมีการแก้ไขในบทเฉพาะกาล หรือบทถาวรอีกหรือไม่นั้นจะไปพิจารณากันอีกครั้งในการประชุมนอกสถานที่ในวันที่ 23 –26 มี.ค.ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์