นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฏหมาย กล่างถึงกรณีบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ไม่มาชำระค่าประมูลใบอนุญาต 900 MHz ช่วงที่ 1 งวดแรกจำนวน 8,040 ล้านบาท พร้อมกับหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร (แบงค์การันตี) วงเงิน 75,654 ล้านบาท ซึ่งทำให้ไม่ได้รับใบอนุญาตแม้จะชนะการประมูลคลื่นนี้ว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คงต้องยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันซึ่งเป็นเช็คเงินสดราว 644 ล้านบาททันที รวมถึงต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้น โดยเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการประมูล 4 จีที่ผ่านมา และจัดให้มีการประมูลคลื่น 900 MHz ช่วงนี้ใหม่
ส่วนที่มีรายงานข่าวระบุว่า กสทช.เตรียมทำหนังสือไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอความเห็น พร้อมเสนอ 2 แนวทาง ให้ออกมาตรา 44 เพื่อจัดให้มีการประมูลคลื่น 900 MHz ช่วงนี้ใหม่ โดยเริ่มต้นที่ราคา 75,654 ล้านบาทนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้คงไม่จำเป็น เพราะ กสทช.สามารถดำเนินการเองได้ และก็มีการประกาศชัดเจนว่าจะมีการจัดการประมูลใหม่ในช่วงไม่เกิน 1 ปี และต้องได้ราคาที่ไม่ต่ำกว่าเดิม และถ้าราคาต่างกันต้องฟ้องร้องส่วนต่าง ซึ่งถ้ายังประมูลไม่ได้ภายใน 1 ปีก็ต้องประมูลต่อ แต่ก็ยึดหลักที่ต้องได้ราคาไม่ต่ำกว่าที่ประมูลได้เช่นกัน
นายวิษณุ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับแนวทางประมูลรอบใหม่ เดิมประมูลราคาไว้ที่ระดับ 7 หมื่นล้านบาท แต่หากเปิดประมูลใหม่ได้ราคาเพียง 5 หมื่นล้านบาท ส่วนต่างที่เกิดขึ้นต้องไล่บี้ให้แจสโมบายมาจ่ายหรือไม่ โดยยอมรับว่าต้องมีการดำเนินการเช่นนั้น แต่หากมีการโต้แย้งในหลักการก็ต้องไปว่ากันในชั้นศาล
สำหรับแนวคิดออกมาตรา 44 ให้สามารถเจรจากัลผู้ประมูลรายเดิมที่เสนอราคาเป็นอันดับถัดมาว่าต้องการชำระค่าประมูลในราคาเดียวกันเพื่อได้คลื่น 900 MHz หรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า หากจะทำก็ต้องออกกฏหมายให้ กสทช. ซึ่งอาจจะเป็นกฏหมายปกติหรือกฏหมายพิเศษ แต่เมื่ออันดับ 2 ถูกเลื่อนขึ้นมา ในแง่สังคมคงรับยาก และกลายเป็นว่าคนปฏิบัติตามกฏหมายทุกอย่างเสียเปรียบคนที่เสนอราคาต่ำกว่าไม่ควรจะได้ และกติกานี้เมื่อไม่บอกล่วงหน้า พอเปลี่ยนทีหลังก็จะลำบาก
นายวิษณุ กล่าวถึงปัญหาเรื่องนี้ด้วยว่ารัฐบาลก็คิดว่ามีโอกาสจะเกิดได้ แต่จะเตรียมทางหนีทีไล่ได้อย่างไร เพราะทุกอย่างมาตามตรอก ออกทางประตู