พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) เปิดแถลงข่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบโครงการการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พร้อมเปิดให้นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)และ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฝ่ายกฏหมายพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ร้อง เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงด้วย
พล.อ.ไพบูลย์ ยืนยันว่าจากการรับฟังข้อมูลจาก 2 หน่วยงานไม่พบการทุจริตใดๆในโครงการการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ไม่มีการเรียกรับหัวคิวใดๆ ซึ่งหลังจากนี้จะส่งข้อมูลทั้งหมดให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไปดำเนินการตรวจสอบต่อไป
"จากผลการตรวสอบไม่มีการทุจริต เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องศอ.ตช.แต่วันหนึ่งมีการมาร้องผม ผมถึงไปดูแลเรื่องนี้ แต่งานในหน้าที่ไม่ก้าวก่ายเด็ดขาด วันนี้เมื่อตรวจสอบแล้ว ยืนยันเรื่องหัวคิวไม่มี"พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
ส่วนกรณีที่พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะอดีตผู้บัญชาการทหารบก เคยออกมาระบุว่า มีการหักหัวคิวนั้น พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ได้มีการสอบถามโดยตรง ซึ่งพล.อ.อุดมเดช ชี้แจงว่า อาจจะเกิดจากความไม่เข้าใจและไปใช้คำว่าหัวคิว ซึ่งพล.อ.อุดมเดช เองก็ยืนยันว่าเรื่องนี่ได้ดำเนินการถูกต้องมาโดยตลอด
ด้านนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. ชี้แจงถึงกรณีเรื่องการหักหัวคิวว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีการจ่ายเงินจริงระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน ซึ่งถือเป็นค่าตอบแทนทางธุรกิจ เป็นค่าชักนำที่หางานมาให้ ในวงเงินประมาณ 6-7 % ของวงเงินค่าจ้าง ขณะที่วงเงินค่าจ้างก็เป็นราคาตามท้องตลาด ซึ่งไม่พบข้อพิรุธแต่อย่างใด
ส่วนนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง.ระบุว่า ได้มีการตรวจสอบใน 5 ประเด็น ประกอบด้วยการรับเงินบริจาค ซึ่งประเด็นนี้มีการแยกเงินที่ได้จากการบริจาคแยกจากเงินสวัสดิการกองทัพบก ผ่าน 6 ธนาคาร แต่เมื่อเกิดประเด็นข้อสงสัยจึงได้ลดช่องทางการบริจาคผ่านธนาคารทหารไทยเพียงแห่งเดียว และจากการตรวจสอบไม่พบปัญหา มีการลงรับเข้าบัญชีถูกต้อง
จากยอดเงินทั้งหมด ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค.58 ที่ผ่านมา พบว่ามียอดเงินที่รับมา 733 ล้านบาทเศษ มีการใช้จ่ายไปแล้ว 458 ล้านบาท ในส่วนนี้เป็นค่าองค์พระ 318 ล้านบาท ขณะที่มีเงินยืมไปจัดทำเหรียญเพื่อให้ประชาชนบูชา 105 ล้านบาท และเงินยืมอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย คงเหลือเงินในบัญชี 140 ล้านบาทเศษ
และจากการที่มีการระบุว่ามีเงินอีกส่วนหนึ่งราว 63 ล้านบาทนั้นเป็นงบกลางที่รัฐบาลมีนโยบายต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการนี้เพื่อไปเสริมกับเงินบริจาค ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 5 โครงการแต่ทำไปแล้ว 4 โครงการ เหลืออีก 1 โครงการที่ให้ชะลอไว้ก่อน ส่วนเงินจากทางกองทัพมีการตั้งงบไว้ 27 ล้านบาทนำไปทำรั้วรอบบริเวณของอุทยานฯ นอกนั้นก็จะเป็นการบริจาคในลักษณะสิ่งของ รวมทั้งต้นไม้ แต่ต้องมีเรื่องของค่าน้ำมันและค่าแรงประกอบด้วย จำนวน 4 ล้านบาท ซึ่งแป็นเงินของผู้บริจาคทั้งหมด
"ยืนยันว่าจากการตรวจสอบไม่พบว่ามีการทำผิดระเบียบแบบแผนการเบิกจ่ายตามราชการ"นายพิศิษฐ์ กล่าว
นอกจากนี้ ทางสตง.ได้มีการตรวจสอบในเรื่องของราคากลาง ซึ่งได้ใช้วิศวกร สตง.ไปตรวจสอบราคากลางและพบว่า เป็นราคากลางปกติ แม้ว่านายจตุพร ได้แจ้งว่าราคากลางของโครงการสูงกว่าราคากลางทั่วไป นอกจากนั้น ยังมีการตรวจสอบเนื้อวัสดุขององค์พระ แต่เบื้องต้นพบว่าเป็นนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ ซึ่งมีหลักฐานยืนยัน ส่วนค่าของเนื้อวัสดุได้นำไปให้ทางจุฬาฯ มีตรวจสอบ ได้รับคำยืนยันว่าเป็นไปตามที่กำหนดในแบบ
ส่วนประเด็นเรื่องหัวคิว โรงหล่อทั้ง 5 จาก 6 โรงหล่อนั้น มีการจ้างที่ปรึกษาที่รู้จักกันดี ในนามเซียนอุ๊ จากการตรวจสอบประวัติ เซียนอุ๊ มีโรงหล่อของตัวเอง และได้มีการรับเงินที่ปรึกษา 20 ล้านบาท โดยมีการยืนยันสิทธิว่าเป็นการได้โดยชอบ เป็นการจ่ายด้วยความสมัครใจ แต่เซียนอุ๊ ตัดสินใจนำเงินเข้ามาบริจาคให้กองทุนฯ ซึ่งเงินบริจาคดังกล่าวทางกองทัพบกออกเอกสารยืนยันชัดเจน และจากการตรวจสอบของ สตง.พบว่าเงินบริจาคดังกล่าวทำในนามเอกชน
ในส่วนของการโอนทรัพย์สิน ทางราชการยังถือเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบทรัพย์สินดังกล่าว ยังไม่ได้โอนเข้าสู่มูลนิธิราชภักดิ์ อย่างไรก็ตาม ทางสตง.จะยังคงทำหน้าที่ตวจสอบเงินบริจาคหลังจากนี้ต่อไป
ขณะที่ภายหลังการชี้แจง นายจตุพร ได้มีมีข้อโต้แย้งบางประเด็น อาทิ ประเด็นเกี่ยวกับ เซียนอุ๊ ว่าเป็นข้าราชการ ซึ่งประเด็นนี้ทางรมว.ยุติธรรม ระบุว่าจะส่งเรื่องให้ป.ป.ช.ตรวจสอบต่อไป