นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยถึงผลการพิจารณาของ กรธ.เกี่ยวกับการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สายว่า กรธ.ได้ยกร่างในส่วนของบทเฉพาะกาลขึ้นมา โดยเฉพาะประเด็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กำหนดให้มีจำนวน 250 คน แยกที่มาเป็นสองส่วน ส่วนแรกจำนวน 200 คนมาจากคณะกรรมการสรรหาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งขึ้นจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมืองไม่เกิน 400 คน เพื่อเสนอให้ คสช.คัดเลือก 194 คน และอีก 6 คนกำหนดตามตำแหน่งที่ขอมา คือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ซึ่งเป็นการแต่งตั้งโดยตำแหน่ง โดยกลุ่มนี้ต้องมีคุณสมบัติ ส.ว.ตามบทหลัก แต่ยกเว้นเรื่องเคยเป็นหรือเป็นรัฐมนตรีที่เดิมต้องเว้นวรรค 5 ปี ส่วนอีก 6 ตำแหน่งจะยกเว้นเรื่องการเป็นข้าราชการด้วย
ส่วนที่สองอีก 50 คน ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เลือกจากผู้สมัครในระดับอำเภอ จังหวัด ถึงระดับประเทศจากผู้มีความเหมาะสมจากกลุ่มต่างๆ ให้ได้จำนวน 200 คนแล้วเสนอให้ คสช.คัดเลือกไว้ 50 คน และมีบัญชีสำรองอีก 50 คน
โฆษก กรธ.กล่าวว่า กรธ.ยังได้พิจารณาบทบาทหน้าที่ของ ส.ว.ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรกในการติดตามผลักดันการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะการออกกฎหมายที่ระบุแผนการปฏิรูปประเทศ โดยให้ ส.ว.เร่งรัดติดตามการทำงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ยะต้องรายงานความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศให้ ส.ว.รับทราบทุก 3 เดือน
สำหรับร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ นอกจากดำเนินตามขั้นตอนในสภาผู้แทนราษฎรตามปกติแล้ว หากมีปัญหาการชะลอกฎหมาย กำหนดให้มีการพิจารณาโดยทั้งสองสภาร่วมกัน ทั้งนี้ กรธ.กำหนดให้มีคณะกรรมการ 1 ชุด ประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนฯ ประธานวุฒิสภา ผู้แทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประธาน กมธ.สามัญ เพื่อร่วมเป็นกรรมการในการพิจารณาว่ากฎหมายฉบับนั้น ๆ เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศหรือไม่
ส่วนบทบาทการดูแลการบริหารงานราชการแผ่นดินนั้น หากสภามีปัญหาเกี่ยวกับกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) การตรวจเงินแผ่นดิน การเพิ่มเติมโทษหรือองค์ประกอบความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือตำแหน่งหน้าที่ในทางยุติธรรม หรือการแก้ไขให้การกระทำบางอย่างไม่ต้องรับผิดทางแพ่งหรืออาญา หากมีการยับยั้งในขั้นตอนของสภาผู้แทนฯ หรือวุฒิสภาก็ตาม ต้องนำฎหมายนั้นเข้าสู่การพิจารณาร่วมกันของทั้งสองสภา
นายอุดม กล่าวถึงที่มาของนายกรัฐมนตรีที่แม่น้ำ 4 สายเสนอว่าไม่ต้องบังคับให้พรรคการเมืองเปิดชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อว่า กรธ.เห็นว่าหลักการเปิดเผยชื่อดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชน แต่ก็หาทางออกหากเกิดทางตันตามที่แม่น้ำ 4 สายท้วงติงมา จึงกำหนดในบทเฉพาะกาลว่าหากพิจารณารายชื่อตามบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอแล้วไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ และหาก ส.ส.มากกว่าครึ่งของสภาผู้แทนฯ เสนอให้ประธานสภาก็สามารถเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาประเด็นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่ไม่อยู่ในบัญชีได้ หากที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 3 ใน 5 (450 คน จากเดิม 2 ใน 3 หรือ 500 คน) ก็ให้สภาผู้แทนกลับไปเลือกผู้ที่อยู่ในบัญชีหรือนอกบัญชีก็ได้