ดุสิตโพลเผยปชช.ห่วงขาดส่วนร่วมเลือกส.ว./อาจมีปัญหาหากเป็นนายกฯ คนนอก

ข่าวการเมือง Sunday March 27, 2016 09:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่าคิดอย่างไรต่อร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับข้อเสนอปรับปรุงเนื้อหาในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญที่ คสช. เสนอมา 3 ข้อ โดยกรธ.รับข้อเสนอคสช. 2 ข้อ คือ "เปิดทางสว.สรรหา-เลือกนายกฯนอกบัญชี" แต่ให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวตามที่ กรธ.ได้กำหนดไว้เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน

โดยคำถามว่า 1. จากที่ กรธ. ปรับปรุงเนื้อหาในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญที่ คสช.เสนอ ประชาชนคิดว่าการปรับปรุงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมีผลดี-ผลเสียอย่างไร

1.1 เห็นชอบให้มีวุฒิสภาจำนวน 250 คน โดยแบ่งเป็นส.ว.จำนวน 200 คน มาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาจำนวน 8-10 คนตามที่คสช.กำหนด ส่วนอีก 50 คนมาจากการเลือกกันเองของส่วนภูมิภาคตามสาขาวิชาชีพ 20 ด้านจำนวน 231 คนก่อนเลือกให้เหลือ 50 คนตามหลักเกณฑ์ที่คสช.กำหนด ทั้งนี้ กำหนดให้บุคคลในคสช.และผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการประจำสามารถเป็นส.ว.ได้ โดยส.ว.ไม่มีอำนาจในการเลือกนายกฯและเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

โดยผู้ที่ตอบว่าผลดี ให้เหตุผลใน 3 อันดับแรกว่า อันดับ 1 ได้คนที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพและตัวแทนที่มาจากส่วนภูมิภาค อันดับ 2 ได้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน มีความเห็นมุมมองที่หลากหลาย อันดับ 3 ทำงานคล่องตัว เป็นอิสระ ตรวจสอบการทำงานได้ง่าย

ส่วนผู้ที่ตอบว่าผลเสีย ให้เหตุผลใน 3 อันดับแรกว่า อันดับ 1 ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการเลือก ส.ว. ไม่เป็นประชาธิปไตย อันดับ 2 มีการทุจริตคอรัปชั่น แบ่งพรรคแบ่งพวก เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง อันดับ 3 อาจเกิดความขัดแย้งหรือมีปัญหาในการทำงานภายหลัง

1.2 ยืนยันให้ใช้ระบบการเลือกตั้งส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม ด้วยการลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งเพียงหนึ่งใบตามที่กรธ.ได้กำหนดไว้

โดยผู้ที่ตอบว่าผลดี ให้เหตุผลใน 3 อันดับแรกว่า อันดับ 1 ประหยัดงบประมาณ /กระดาษ/กำลังคนและเจ้าหน้าที่ อันดับ 2 การกาบัตรสะดวก เข้าใจง่าย กาเพียงใบเดียว อันดับ 3 เจ้าหน้าที่สามารถนับคะแนนได้เร็ว ตรวจสอบง่าย

ส่วนผู้ที่ตอบว่าผลเสีย ให้เหตุผลใน 3 อันดับแรกว่า อันดับ 1 เป็นการจำกัดสิทธิประชาชน บังคับให้เลือกได้เพียงอย่างเดียว ความชื่นชอบพรรคกับตัวบุคคลอาจไม่เหมือนกัน อันดับ 2 เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรงเพื่อแย่งชิงตำแหน่ง ส.ส. ทำให้เกิดการทุจริต ซื้อเสียง อันดับ 3 โอกาสของผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อที่จะได้รับเลือกเข้ามามีน้อยมาก

1.3 การเลือกนายกรัฐมนตรี กรธ.ยังคงยืนยันในหลักการที่ให้พรรคการเมืองต้องเสนอชื่อว่าที่นายกฯ จำนวน 3 คนตามเดิม แต่หากเกิดกรณีสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ จะต้องมีการเปิดประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อลงมติ 2 ใน 3 เพื่อของดเว้นการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกนายกฯ จากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง จากนั้นสภาฯ จะเป็นผู้พิจารณาต่อไปว่าจะให้บุคคลใดมาดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยบุคคลนั้นจะเป็นหรือไม่เป็นส.ส.ก็ได้

ผู้ที่ตอบว่าผลดี ให้เหตุผลใน 3 อันดับแรกว่า อันดับ 1 ประชาชนได้รู้ล่วงหน้าว่าแต่ละพรรคส่งใครเป็นนายกรัฐมนตรีบ้างอันดับ 2 ปิดโอกาสให้คนนอกหรือคนที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี อันดับ 3 เป็นการแก้ปัญหาทางการเมืองร่วมกัน อยากเห็นบ้านเมืองเดินหน้าพัฒนาต่อไปได้

ส่วนผู้ที่ตอบว่าผลเสีย ให้เหตุผลใน 3 อันแรกว่า อันดับ 1 คนที่ไม่เห็นด้วยออกมาคัดค้าน เคลื่อนไหว สร้างความขัดแย้งวุ่นวายในสังคม อันดับ 2 คสช.ถูกมองว่าใช้อำนาจมากเกินไป เผด็จการ เป็นการสืบทอดอำนาจจาก คสช. อันดับ 3 หากเป็นนายกฯคนนอกเข้ามาโดยที่ประชาชนไม่ได้เลือก อาจเกิดความไม่พอใจ

อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,326 คน ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่22-26 มีนาคม 2559


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ