นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีหลายฝ่ายเข้าใจผิดเกี่ยวกับกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีว่าให้รัฐสภาเป็นผู้เลือก ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะการเลือกนายกรัฐมนตรียังเป็นอำนาจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ส่วนการให้รัฐสภาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องก็เฉพาะกรณีต้องการให้มีมติยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้สภาฯ สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากบุคคลนอกบัญชีของพรรคการเมืองได้ ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถทำความเข้าใจกับประชาชนได้ เพราะไม่ได้มีการเปิดช่องเรื่องนายกฯ คนนอกตั้งแต่แรก เพียงแต่เป็นการให้รัฐสภาสามารถมีมติยกเว้นการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเฉพาะเรื่องนายกรัฐมนตรีได้เท่านั้น
ทั้งนี้ การประชุมวันนี้เป็นการตรวจสอบความถูกต้องของร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องถ้อยคำและการจัดลำดับมาตราให้ถูกต้อง เพื่อเตรียมส่งมอบให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งรัฐบาลไม่ได้มีท่าทีโต้แย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญอีก
สำหรับการรณรงค์เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญในช่วงการทำประชามติทาง กรธ.ได้เสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้บัญญัติว่า การเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ และการทำความเข้าใจต่อประชาชนเป็นหน้าที่ของ กรธ. แต่ได้ข่าวว่า กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญของ สนช.ได้ตัดข้อเสนอดังกล่าวไป ไม่ให้ชี้แจง กรธ.คงต้องไปสอบถามเรื่องนี้ไปทางรัฐบาล เพราะการไม่ให้ กรธ.ไปชี้แจงจะกระทบต่อการทำประชามติ
"เราจะสอบถามกลับไปว่าถ้าเป็นแบบนี้จะให้ กรธ.ทำอย่างไร สงสัยว่าถ้าไม่ให้ กรธ.ไปชี้แจง แล้วใครจะเป็นคนไปชี้แจง จะให้คณะกรรมการการเลือกตั้งไปชี้แจงก็ชี้แจงไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ สงสัยอยู่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับ สนช." นายมีชัย กล่าว