พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ระบุกรณีพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาชนออกมาลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะเป็นสิทธิที่จะไม่เห็นด้วย และไม่สามารถบังคับใครให้เห็นด้วยได้ ซึ่งเชื่อว่าจะไม่ส่งกระทบด้านความมั่นคง
"ไม่มีปัญหาหากพรรคเพื่อไทยจะรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะพรรคมีสิทธิ์ที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย โดยไม่สามารถที่จะบังคับใครได้ และไม่ห่วงว่าพรรคเพื่อไทยที่มีมวลชนจะชักชวนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่าจะมีประชาชนที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การออกมาเคลื่อนไหวจะไม่กระทบต่อความมั่นคง แม้พรรคเพื่อไทยจะมีฐานประชาชน แต่ก็เป็นเรื่องของอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น และยังไม่มีการประเมินความเสี่ยง โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองนับจากนี้จนถึงวันลงประชามติ แต่ยืนยันว่าจะต้องไม่มีความขัดแย้ง"พล.อ.ประวิตร กล่าว
ส่วนกรณีมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 13/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ทหารเป็นเจ้าพนักงานทำงานร่วมกับตำรวจนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่อยากให้มองเป็นคำสั่งปราบมาเฟีย แต่ขอให้มองเป็นคำสั่งเอาผิดกับผู้ที่ทำให้คนอื่นเดือนร้อน และไม่ใช่เหตุผลว่าตำรวจทำงานไม่มีประสิทธิภาพ แต่เพราะมีตำรวจไม่เพียงพอ จึงต้องให้ทหารมีอำนาจและเข้าไปช่วยการทำงาน
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่ห่วงภาพลักษณ์ของ คสช. จะเสียหายกรณีมีการเชิญตัวผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและ คสช.เข้าหลักสูตรอบรม เพราะคนที่ถูกเรียกตัวมาล้วนมีประวัติและภูมิหลัง ซึ่งอาจจะไม่ใช่คนดีมากนัก ส่วนสถานที่จัดหลักสูตรนั้นทาง คสช.จะเป็นคนกำหนด เช่นเดียวกับการเรียกคนเข้าอบรมหลักสูตร คสช.ก็จะพิจารณา รวมถึงสื่อมวลชนด้วย ซึ่งมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกคือ หากไม่ทำผิดก็จะไม่เรียกตัว ส่วนหลักสูตรจะเป็นอย่างไร คสช.ก็มีการวางไว้แล้ว
ขณะที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การรณรงค์เรื่องร่างรัฐธรรมนูญก่อนการทำประชามตินั้น ในส่วนของเนื้อหาในร่างกฎหมายดังกล่าวให้อิสระฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้านสามารถชี้แจงข้อดีและข้อบกพร่องของร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเต็มที่ เปิดโอกาสให้แสดงความเห็นได้ แต่จะพูดชี้นำขอให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือพูดในลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริงไม่ได้ จะเข้าข่ายผิดกฎหมาย
"ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย กรธ. พรรคการเมือง จะทำได้แค่พูดถึงข้อดีและข้อเสียร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ส่วนเรื่องการใช้เครื่องลงคะแนนในการทำประชามตินั้น กมธ.วิสามัญฯ เห็นว่า ไม่ควรนำมาใช้ในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพราะไม่อยากให้มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การฟ้องร้องได้" พล.อ.สมเจตน์ กล่าว