นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่ได้ประหลาดใจ เพราะได้ทราบมาเป็นระยะอยู่แล้ว ตอนนี้ก็ยังไม่ได้มีเวลาอ่านร่างรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด เพราะเพิ่งได้รับมา แต่จะพยายามหาเวลาอ่านอย่างละเอียดเพื่อพินิจพิเคราะห์ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านแล้วมีสิ่งใดที่ต้องทำก่อน เพราะบางเรื่องต้องทำทันที และบางเรื่องสามารถรอได้
นายวิษณุ เชื่อว่า จะไม่มีใครชอบและไม่ชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด แม้แต่พรรคเพื่อไทยที่ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็เชื่อว่าเขาอาจจะมีหรือไม่ชอบในบางมาตรา แต่เขาได้ชั่งน้ำหนักแล้ว อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามโรดแมพที่วางไว้
"ไม่ยืนยันว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือน ก.ค.2560 แต่จะเร็วขึ้นหรือช้าลง 1 เดือน เพราะยังมีบางอย่างที่อยู่เหนือการควบคุม อาทิ ขั้นตอนการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ รวมทั้งคำถามพ่วงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถ้าผ่านประชามติก็ต้องปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญภายใน 30 วัน" นายวิษณุ กล่าว
ส่วนที่มีสื่อนำไปเสนอข่าวว่าจะมีการยืดระยะเวลาการเลือกตั้งไปเป็นปลายปี 2560 หรือในปี 2561 นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ในร่างรัฐธรรมนูญได้มีการกำหนดว่าให้มีการทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 10 ฉบับภายใน 8 เดือน แต่มาตรา 271 ของร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้
"อย่าไปกังวลว่า กรธ.จะไปมีลูกเล่นเอา 4 ฉบับที่ว่าไปทำทีหลัง คนที่มีสติมีปัญญา เขาไม่ทำอย่างนั้น แล้วถึงเวลาทำออกมา คุณจะตกใจว่าทุกอย่างมันพร้อมอยู่แล้ว ผมมีอะไรอยู่ในใจ ซึ่งจะออกมา 4 ฉบับ ซึ่งจะเซอร์ไพรส์มาก คุณจะไม่ทันเตรียมตัวเลย" นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติก็เป็นหน้าที่ของ คสช.จะเป็นผู้พิจารณาทำอย่างไร โดยการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 อีกครั้ง โดยไม่เห็นด้วยกับการไปกำหนดก่อนว่าถ้าไม่ผ่านแล้วจะไปหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดออกมาใช้
"คสช.คงคิดล่วงหน้าไว้แล้ว พอรู้ผลไม่ผ่านก็เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว คาดว่าใช้เวลาประมาณ 10-20 วัน เพราะเท่ากับว่าเวลาประชาชนพิจารณาจะต้องไปพิจารณารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เป็นตัวเลือกแทนที่จะเข้าไปดูเนื้อหาสาระของฉบับที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" นายวิษณุ กล่าว
สำหรับในสัปดาห์นี้เตรียมประชุมร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) , สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) , กระทรวงมหาดไทย และสำนักงบประมาณ เพื่อหารือเกี่ยวกับการใช้งบประมาณสำหรับการจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
ส่วนการเดินสายชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญต่อประชาชนนั้นจะดำเนินการโดย กกต., กรธ.โดยใช้งบประมาณของ กรธ.เอง ไม่เกี่ยวกับ กกต. และกลุ่มอื่นๆ โดยใช้งบของตัวเองไม่เกี่ยวกับ กกต.