นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาคำถามพ่วงประชามติในวันที่ 7 เม.ย.ว่า ตามขั้นตอนเมื่อสนช.มีมติแล้วจะส่งไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทันที ส่วนรายจ่ายที่จะเพิ่มขึ้นจากคำถามพ่วงนั้นคงมีไม่มาก เพราะเราใช้บัตรลงคะแนนใบเดียวกัน และที่คุยกันไว้จะใช้คำถามว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญสีหนึ่ง คำถามพ่วงอีกสีหนึ่ง เพื่อป้องกันประชาชนสับสน ขณะที่หน้าที่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำถามพ่วงยังไม่ได้คิดว่าจะให้หน่วยงานไหนรับผิดชอบ แต่คิดว่าใครก็ได้โดยใช้งบประมาณของตัวเอง ส่วนกรณีเกิดคำถามพ่วงผ่านประชามติแต่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติก็ไม่มีปัญหาอะไร จะมองว่าเสียเปล่าหรือไม่ก็ได้ เพราะคำถามพ่วงจะชี้ให้เห็นว่าประชาชนต้องการอะไรในการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คำตอบมีนัยสำคัญส่งสัญญาณว่าประชาชนต้องการอะไร แต่ไม่ถึงขนาดเป็นการข้อผูกพันทางกฎหมาย
สำหรับฝ่ายการเมืองที่เรียกร้องให้บอกทางออกหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติเพื่อประกอบการตัดสินใจนั้น วันนี้ยังบอกไม่ได้และไม่ควรให้รู้เพราะจะทำให้เกิดอคติเผื่อเลือกขึ้นมา อย่างไรเสียต้องหาทางทำให้รู้โดยเร็ว เพราะหลังวันที่ 7 ส.ค.หากประชามติไม่ผ่านจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ว่าให้ใช้วิธีใด ซึ่งจะชัดเจนว่าจะเอารัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้ หรือเขียนใหม่โดยไม่ใช้ฉบับใด หรือใช้หลายฉบับเป็นฐาน ซึ่งรัฐธรรมนูญที่อยู่ในข่ายคือ รัฐธรรมนูญปี 40 รัฐธรรมนูญปี 50 ร่างรัฐธรรมนูญปี 58 และร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เท่านั้น คงไม่ย้อนไปไกลกว่านั้น เพียงแต่จะเอาฉบับใดมาเป็นฐานแล้วขยายต่อไป หรือตัดอะไรออก หรือผสมรวมกัน หรือไม่เอาอะไรเลยแล้วเขียนใหม่ทั้งหมด และไม่จำเป็นต้องไปลงประชามติ
ทั้งนี้ หากต้องจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จะไม่มีการทำประชามติอีกครั้งใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า โดยรูปการณ์เพื่อให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วคงต้องเป็นเช่นนั้น แม้กระทั่งการทำประชามติครั้งนี้ตนยังงงว่าจะทำประชามติทำไม เพราะตนคิดในใจว่ามันมีวิธีอื่นที่สามารถทำได้โดยเร็วและประหยัด แต่เมื่อไม่เลือกใช้ก็ต้องมีการทำประชามติ