ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้มีมติให้ส่งประเด็นคำถามให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อจัดให้มีการออกเสียงประชามติ พร้อมทั้งมีมติ 152 เสียงให้ตั้งคำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่ตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี" เป็นหนึ่งในคำถามพ่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 ส.ค.59 นี้
สนช.ได้พิจารณาการเสนอคำถามพ่วงประชามติที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอมาว่า "เห็นด้วยหรือไม่ที่ระยะ 5 ปีแรกที่ในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญจะให้รัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี" หลังจากมอบหมายให้คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญได้รวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะจากฝ่ายต่าง ๆ
ทั้งนี้ นายกล้าณรงค์ จันทิก รองประธานกรรมาธิการฯ รายงานต่อที่ประชุมว่า คณะกรรมาธิการฯได้รวบรวมความเห็นและคำถามจากกรรมาธิการฯชุดต่างๆ โดย สนช. เช่น นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน กรรมาธิการการเมือง เสนอคำถามให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง ขณะที่นายสิงห์ศึก สิงห์ไพร เสนอคำถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ว่าระหว่าง 5 ปีแรกควรเพิ่มบทบัญญัติให้รัฐสภามีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรีและอภิปรายไม่ไว้วางใจ
กรรมาธิการฯ ได้พิจารณาโดยเน้นข้อเสนอความเห็นของ สปท.เป็นหลักและเห็นควรตั้งคำถามว่า "เห็นชอบหรือไม่ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่าในระหว่าง 5 ปีแรกของสภานี้ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาให้ความเห็นชอบบุคคลหรือสมควรเลือกบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีกลไกการปฏิรูปต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ" โดยที่ประชุมได้อภิปรายสนับสนุน เนื่องจากเห็นว่าช่วงเปลี่ยนผ่านยังมีความขัดแย้งรออยู่ จึงควรให้รัฐสภาสามารถติดตามการทำงานการบริหารประเทศ รวมไปถึงการปฏิรูปของรัฐบาล
ดังนั้น ที่ประชุม สนช.มีมติเป็นเอกฉันท์ 152 เสียงเห็นชอบให้ตั้งถามคำถามดังกล่าว