ก่อนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ายังมีประเด็นต่างๆ ที่เป็นข้อถกเถียงและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ในการเลือก ส.ส. ที่มาและจำนวนของ ส.ว. และกรณีที่จะมีคำถามพ่วงไปในการทำประชามติรัฐธรรมนูญ อีก 1 คำถาม ซึ่งเป็นเรื่องที่มีทั้งคนที่เห็นด้วยและเห็นต่าง เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน “สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ พบว่า
ผลสำรวจประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ กรณี การทำประชามติรัฐธรรมนูญที่มีคำถามพ่วงให้ประชาชนตอบอีก 1 คำถาม ร้อยละ 61.35 เห็นด้วย เพราะหากเป็นคำถามสำคัญและมีประโยชน์ต่อบ้านเมืองก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ในการแสดงความคิดเห็น สามารถตอบได้ ไม่ได้ยุ่งยากจนเกินไป ฯลฯ ขณะที่ร้อยละ 25.53 เฉยๆ เพราะ ยังไม่ทราบความคืบหน้า ไม่รู้รายละเอียดที่ชัดเจน ประชาชนมีสิทธิที่จะตอบหรือไม่ตอบก็ได้ ควรมีการชี้แจงถึงความสำคัญและประโยชน์ของการเพิ่มคำถาม สร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ฯลฯ มีร้อยละ 13.12 ที่ไม่เห็นด้วยเพราะ กังวลว่าจะเป็นการตั้งคำถามที่ชี้นำหรือทำให้ประชาชนสับสน ตัดสินใจผิดพลาดได้ มีหลายกระแสมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ควรเน้นเฉพาะเรื่องการทำประชามติเท่านั้น ฯลฯ
ส่วนประชาชนคิดว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ควรใช้บัตรเลือกตั้งกี่ใบ? นั้นร้อยละ 62.14 จำนวน 1 ใบ เพราะการกาบัตรสะดวก เข้าใจง่าย เจ้าหน้าที่นับคะแนนง่าย การตรวจสอบไม่ยุ่งยาก ประหยัดงบประมาณ ฯลฯ ร้อยละ 22.21 จำนวน 2 ใบ เพราะประชาชนจะได้ไม่สับสนในการเลือกคนหรือลงคะแนน ที่ผ่านมาก็ใช้วิธีกาบัตร 2 ใบ ประชาชนมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว ฯลฯ และร้อยละ 15.65 จำนวน 1 ใบหรือ 2 ใบก็ได้ เพราะ ถึงอย่างไรประชาชนก็ต้องออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ขอให้กระบวนการขั้นตอนต่างๆเป็นไปด้วยความถูกต้อง ยุติธรรม จะ 1 ใบ หรือ 2 ใบ ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร ฯลฯ
เมื่อถามว่า ประชาชนคิดว่าควรให้ ส.ว. (มาจากการสรรหา) ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ร้อยละ 52.02 ควรให้ร่วมโหวตเลือกนายกฯ เพราะ ส.ว.เป็นส่วนหนึ่งของสภาควรจะมีสิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อความยุติธรรม เท่าเทียม ส.ว.เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และมากประสบการณ์ การเลือกนายกฯจะได้มาจากความคิดที่หลากหลาย ฯลฯ ร้อยละ 47.98 ไม่ควรให้ร่วมโหวตเลือกนายกฯ เพราะ อาจมีการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทำให้เกิดการแตกแยก นายกรัฐมนตรีควรมาจากเสียงของประชาชน ส.ว.ควรมีหน้าที่ให้คำปรึกษาตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจเท่านั้น ฯลฯ
สำหรับคำถามที่ว่า ประชาชนคิดว่าควรมี "คณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ" หรือไม่ ร้อยละ 62.45 ควรมี เพราะ จะได้เป็นตัวกลางช่วยประสานสร้างความสมานฉันท์ สามารถขับเคลื่อนการทำงานให้เห็นเป็นรูปธรรม ได้อย่างเต็มที่ อยากเห็นความปรองดองเกิดขึ้นในบ้านเมือง ฯลฯ
ร้อยละ 19.05 มีก็ได้ไม่มีก็ได้ เพราะแล้วแต่เสียงส่วนใหญ่ตัดสินใจ ยังไม่เห็นความชัดเจนว่าจะเป็นใคร ทำงานอย่างไร ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของรัฐบาล จะทำวิธีการใดก็ได้ขอให้เกิดความปรองดองอย่างแท้จริง ฯลฯ
ร้อยละ 18.50 ไม่ควรมี เพราะ สิ้นเปลืองงบประมาณ ไม่น่าจะช่วยสร้างความปรองดองได้ ปัญหาความแตกแยกมีมานานแก้ไขได้ยาก ขึ้นอยู่กับทัศนคติของแต่ละคน ทุกฝ่ายควรช่วยกันไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการปรองดอง ฯลฯ
“สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,265 คน ระหว่างวันที่ 4-9 เมษายน 2559