นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมระหว่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และกกต.ว่า ที่ประชุมเห็นชอบการใช้งบประมาณ 2,991 ล้านบาทในการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในวันพรุ่งนี้
ส่วนคำถามพ่วงประชามติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)นั้น จะไม่มีการแก้ไข แต่จะให้ สนช.ไปทำความเข้าใจกับประชาชนในประเด็นคำถามพ่วง ซึ่งจะแยกจากภารกิจที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องไปอธิบายประชาชนให้เข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ
นายสมชัย กล่าวว่า ส่วนตัวยอมรับว่าคำถามพ่วงมีความยาวเกินไปอาจสร้างความสับสนให้ประชาชน แต่ในเมื่อแก้ไขไม่ได้ กกต.ก็จะต้องไปดำเนินการตามที่มีการเสนอมา
สำหรับรายละเอียดบัตรและสีที่จะใช้ลงคะแนนประชามติ กกต.จะเป็นผู้พิจารณารูปแบบที่เหมาะสม ซึ่งในวันที่ 18 เม.ย.นี้จะมีการประชุม กกต.เพื่อพิจารณารายละเอียดทั้งหมดของการทำประชามติ รวมถึงการกำหนดวันประชามติ และการรณรงค์ประกาศข้อห้ามหลักเกณฑ์วิธีการ โดยจะออกเป็นกรอบแนวทางปฏิบัติให้เกิดความชัดเจนภายหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติประกาศใช้แล้ว
ด้านนายวิษณุ กล่าวว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปกำหนดวันลงคะแนนประชามติในวันที่ 7 ส.ค.59 เวลา 08.00-16.00 น. ซึ่ง กกต.จะไปประชุมเพื่อสรุปอีกครั้ง ส่วนกรอบวงเงินงบประมาณการทำประชามติ นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว และเตรียมเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ในวันพรุ่งนี้
ขณะที่การเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า กกต.จะทำหน้าที่เผยแพร่เอกสารสรุปที่ทางกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะสรุปมาให้ นอกจากนี้จะมีการสรุปอีกฉบับในรูปแบบการ์ตูน หรือ อินโฟกราฟฟิค พร้อมทั้งจะมีการเผยแพร่คำอธิบายสั้นๆเกี่ยวกับคำถามพ่วงของ สนช.เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ ซึ่งยืนยันว่าเรื่องคำถามพ่วงจะไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอีก
ทั้งนี้ กกต.จะมีการทำความเข้าใจผ่านทางวิทยุ โทรทัศน์และสื่อต่างๆ ซึ่งจะมีการเชิญบุคคลมาแสดงความเห็นส่วนตัว แต่ไม่ถึงกับการจัดเวทีดีเบต
นายวิษณุ กล่าวถึงข้อปฎิบัติและการแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติว่า ให้ยึดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ส่วนประเด็นใดที่ยังไม่ชัดเจน กกต.จะมีการประชุมเพื่อกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้ง พร้อมย้ำว่าการแสดงความเห็นจากทุกฝ่าย รวมถึงความเห็นของพรรคการเมืองถ้าไม่ขัดกฎหมายและเป็นการแสดงเจตนาสุจริตไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงหรือสร้างความแตกแยกก็สามารถทำได้