นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็นของประชาชน กล่าวภายหลังประชุมเตรียมความพร้อมประชาสัมพันธ์สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญว่า ได้พูดคุยกันในรายละเอียดเกี่ยวกับการขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทยในส่วนของการอบรมวิทยากรกระบวนการ โดยเบื้องต้นจะขอให้หน่วยงานราชการ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการ ส่งข้าราชการในสังกัดเข้าร่วมเป็นวิทยากรกระบวนการจังหวัดละ 5 คน เพื่อให้เป็นคีย์แมนของการทำความเข้าใจต่อเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกต้อง ชัดเจน ตรงประเด็น ให้กับวิทยากรในระดับอำเภอ ซึ่งได้กำหนดให้มีวิทยากรระดับอำเภอๆ ละ 20 คน
อย่างไรก็ตามได้กำหนดให้นายอำเภอเป็นประธานวิทยากรระดับดังกล่าวด้วย จากนั้นให้วิทยากรระดับอำเภออบรมวิทยากรระดับหมู่บ้าน ซึ่งจะมีตัวแทนหมู่บ้านละ 4 คน ประกอบด้วย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.), ประธานกองทุนหมู่บ้าน, กรรมการหมู่บ้าน เป็นต้น ทำหน้าที่อธิบายและชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนในหมู่บ้านแบบตัวต่อตัว
นายชาติชาย กล่าวว่า การชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญกับประชาชนระดับหมู่บ้านนั้นได้กำหนดแนวทางเบื้องต้นคือ หลังจากที่กระบวนการชี้แจงเริ่มต้นในเดือนก.ค.นี้แล้ว ต้องจัดให้มีการประชุมภายในหมู่บ้าน จำนวน 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกในรอบ 2 สัปดาห์แรกของเดือนก.ค. และครั้งที่สองคือในรอบ 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนก.ค. เพื่อให้เนื้อหาเข้าถึงประชาชนมากที่สุดและต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนวันออกเสียงประชามติ
นายชาติชาย กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ห่วงว่าการชี้แจงระดับพื้นที่นั้นจะเจอเหตุการณ์ก่อกวนจากกลุ่มคนที่เห็นต่าง เพราะในร่างกฎหมายประชามติ มาตรา 10 ได้เปิดโอกาสให้เครือข่ายของ กรธ.นั้นสามารถกำหนดมาตรการคุ้มครองการดำเนินการได้
ส่วนกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีแนวคิดอยากร่วมเวทีชี้แจงของ กรธ.เพื่ออธิบายเนื้อหาของคำถามประกอบการทำประชามตินั้น ส่วนตัวมองว่าอาจสร้างความสับสนได้
"คล้ายกับ กรธ.ที่มีหน้าที่ชี้แจงสาระของร่างรัฐธรรมนูญเป็นคนขี่จักรยาน แต่ สนช.ที่มีหน้าที่ชี้แจงคำถามประกอบประชามติเป็นคนซ้อนท้ายจักรยาน หากคนขี่บอกว่าไปได้ แต่คนซ้อนบอกว่าต้องอีกทางอาจทำให้คนฟังเกิดความสับสนได้" นายชาติชาย กล่าว