(เพิ่มเติม) กรธ. ประสานส่วนราชการส่งขรก.ชี้แจงร่างรธน. คาดเริ่มลงพื้นที่ชี้แจงปชช.ได้ก.ค.นี้

ข่าวการเมือง Tuesday April 19, 2016 17:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็นของประชาชน กล่าวภายหลังประชุมเตรียมความพร้อมประชาสัมพันธ์สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญว่า ได้พูดคุยกันในรายละเอียดเกี่ยวกับการขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทยในส่วนของการอบรมวิทยากรกระบวนการ โดยเบื้องต้นจะขอให้หน่วยงานราชการ ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการ ส่งข้าราชการในสังกัดเข้าร่วมเป็นวิทยากรกระบวนการจังหวัดละ 5 คน เพื่อให้เป็นคีย์แมนของการทำความเข้าใจต่อเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกต้อง ชัดเจน ตรงประเด็น ให้กับวิทยากรในระดับอำเภอ ซึ่งได้กำหนดให้มีวิทยากรระดับอำเภอๆ ละ 20 คน

อย่างไรก็ตามได้กำหนดให้นายอำเภอเป็นประธานวิทยากรระดับดังกล่าวด้วย จากนั้นให้วิทยากรระดับอำเภออบรมวิทยากรระดับหมู่บ้าน ซึ่งจะมีตัวแทนหมู่บ้านละ 4 คน ประกอบด้วย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.), ประธานกองทุนหมู่บ้าน, กรรมการหมู่บ้าน เป็นต้น ทำหน้าที่อธิบายและชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนในหมู่บ้านแบบตัวต่อตัว

นายชาติชาย กล่าวว่า การชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญกับประชาชนระดับหมู่บ้านนั้นได้กำหนดแนวทางเบื้องต้นคือ หลังจากที่กระบวนการชี้แจงเริ่มต้นในเดือนก.ค.นี้แล้ว ต้องจัดให้มีการประชุมภายในหมู่บ้าน จำนวน 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกในรอบ 2 สัปดาห์แรกของเดือนก.ค. และครั้งที่สองคือในรอบ 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนก.ค. เพื่อให้เนื้อหาเข้าถึงประชาชนมากที่สุดและต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนวันออกเสียงประชามติ

นายชาติชาย กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ห่วงว่าการชี้แจงระดับพื้นที่นั้นจะเจอเหตุการณ์ก่อกวนจากกลุ่มคนที่เห็นต่าง เพราะในร่างกฎหมายประชามติ มาตรา 10 ได้เปิดโอกาสให้เครือข่ายของ กรธ.นั้นสามารถกำหนดมาตรการคุ้มครองการดำเนินการได้

ส่วนกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีแนวคิดอยากร่วมเวทีชี้แจงของ กรธ.เพื่ออธิบายเนื้อหาของคำถามประกอบการทำประชามตินั้น ส่วนตัวมองว่าอาจสร้างความสับสนได้

"คล้ายกับ กรธ.ที่มีหน้าที่ชี้แจงสาระของร่างรัฐธรรมนูญเป็นคนขี่จักรยาน แต่ สนช.ที่มีหน้าที่ชี้แจงคำถามประกอบประชามติเป็นคนซ้อนท้ายจักรยาน หากคนขี่บอกว่าไปได้ แต่คนซ้อนบอกว่าต้องอีกทางอาจทำให้คนฟังเกิดความสับสนได้" นายชาติชาย กล่าว

ด้านนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิป สนช. กล่าวว่า การพูดคุยเบื้องต้น สนช.จะลงพื้นที่เพื่ออธิบายหลักการและเหตุผลของคำถามพ่วง โดยประสานงานกับ กรธ.ที่เป็นเจ้าภาพหลักเผยแพร่สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเป็นผู้ชี้แจงขั้นตอน เชิญชวนให้ประชาชนมาการลงประชามติ อธิบายวิธีการนับคะแนน และลักษณะของบัตรลงประชามติ มี 1 ใบ 2 สี ประกอบไปด้วยช่องลงคะแนน 2 ช่อง คือ เห็นชอบ และไม่เห็นชอบ

"การลงพื้นที่เพื่อชี้แจง สนช.ไม่มีงบประมาณจึงต้องร่วมกับ กรธ.ใช้งบประมาณของสภาผู้แทนราษฎร สนช.จะใช้การลงพื้นที่ตามโครงการ สนช.พบประชาชนเพื่อชี้แจงคำถามพ่วงประชามติด้วย" นพ.เจตน์ กล่าว

ส่วนข้อกังวลว่าการร่วมลงพื้นที่ของ สนช.จะสร้างความสับสนนั้น ขึ้นอยู่กับ กรธ.จะเอาอย่างไร จะให้ไปร่วมก็ไป ไม่ให้ไปก็ไม่มีปัญหา สนช.ไปลงพื้นที่เองได้ ทั้งนี้ สนช.ทำตามกฎหมายประชามติที่เขียนไว้ว่า การชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญหลักเป็นหน้าที่ กรธ. ส่วน สนช.มีหน้าที่ชี้แจงคำถามพ่วงเท่านั้น แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความวุ่นวาย เรายืนยันไปร่วมลงพื้นที่เพื่อช่วยชี้แจง เพราะถ้าไม่ไปชี้แจงจะยิ่งสับสนมากกว่า

ทั้งนี้ การชี้แจงเรื่องคำถามพ่วงประชามติของ สนช.จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เป็นประธาน โดยจะการประชุมเพื่อพิจารณารายละเอียดวันที่ 25 เม.ย.นี้ เวลา 14.00 น.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ