กรธ.แจงทูต ตปท.เตรียม 4 แนวทางรองรับผลทำประชามติรัฐธรรมนูญ

ข่าวการเมือง Tuesday May 3, 2016 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงเนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการขั้นตอนต่อไปหลังจากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นต่อคณะทูตานุทูตต่างประเทศที่ประจำการในประเทศไทย และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศที่มีสำนักงานในประเทศไทย โดยมีผู้แทนจากสถานทูต 47 แห่ง เป็นระดับเอกอัครราชทูต 12 ประเทศ ประกอบด้วย เบลเยียม สาธารณรัฐเชค มอลตา มองโกเลีย เนปาล ปากีสถาน ปานามา โปรตุเกส สเปน ติมอร์เลสเต และ ยูเครน รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ 6 แห่ง

นายนรชิต ได้แถลงหลังการชี้แจงว่า การชี้แจงวันนี้เกิดจากทูตประเทศต่างๆ ให้ความสนใจอยากฟัง ไม่ใช่เพราะ กรธ.ขอมาบรรยายสรุปเอง โดยได้ยืนยันว่า กรธ.มีความตั้งใจร่างรัฐธรรมนูญให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ และวัฒนธรรมของประเทศไทย จึงไม่จำเป็นต้องชี้แจงให้ต่างชาติฟังเป็นพิเศษ ยกเว้นแต่จะมีการร้องขอ

โฆษก กรธ. กล่าวว่า คณะทูตส่วนใหญ่ให้ความสนใจในเนื้อหาของบทเฉพาะกาลที่ระบุให้มี ส.ว.แต่งตั้งในระยะเปลี่ยนช่วง 5 ปี ซึ่งทาง กรธ. ได้ชี้แจงผลการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้ 4 แนวทาง คือ 1.หากรัฐธรรมนูญผ่าน และคำถามพ่วงประชามติผ่าน ก็ต้องแก้ไขบทเฉพาะกาล 2.หากรัฐธรรมนูญผ่าน แต่คำถามพ่วงไม่ผ่าน สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ได้เลย 3.หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน แต่คำถามพ่วงผ่าน ผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องคำนึงถึงมติของประชาชนที่ต้องการให้มี ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่าน และ 4.หากไม่ผ่านทั้งคู่ กรธ.จะสิ้นสภาพไป จึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องที่ต้องดำเนินการให้มีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นอกจากนี้ยังได้ชี้แจงถึงกระบวนการชี้แจงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญต่อประชาชน โดยจะเริ่มมีการอบรมบุคลากรในหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ก่อนลงพื้นที่ชี้แจงให้ความรู้ประชาชนในวันที่ 18 พ.ค.นี้ ส่วนประเด็นข้อปฏิบัติและข้อห้ามในการแสดงความเห็นก่อนลงประชามติ รวมถึงการเปิดโอกาสให้มีการดีเบตเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้กำหนด ไม่เกี่ยวกับ กรธ.

ทั้งนี้ คณะทูตเองก็ไม่ได้มีความกังวลกับผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ แต่ยังติดตามสถานการณ์ตามปกติ ทั้งนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดขอมาร่วมสังเกตการณ์การลงประชามติ แต่หากจะมีหน่วยงานใดสนใจมาร่วมสังเกตการณ์ก็ต้องไปขออนุญาตจาก กกต. เพราะ กรธ.ไม่มีหน้าที่อีกเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ