นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามและการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงข่าวความคืบหน้าเกี่ยวกับการตรวจสอบโครงการค่าใช้จ่ายในการประดับตกแต่งไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว (Motif of Light) ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) งบประมาณ 39.5 ล้านบาทว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกับนายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกับพวก รวม 14 ราย โดยมีนางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน
ทั้งนี้ จากการแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องต้น มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงต่อการไต่สวนข้อเท็จจริง ใน 3 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่ 1 เรื่องใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายทั่วไป กรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 40 ล้านบาท ในการจัดทำโครงการนี้ ไม่มีการพิจารณาถึงความจำเป็นและเร่งด่วนอย่างแท้จริง
ประเด็นที่ 2 เรื่องกำหนดรายละเอียดขอบเขตงาน (TOR) และประมาณการค่าใช้จ่าย มีการดำเนินดำเนินการก่อนที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดรายละเอียดขอบเขตของงาน (TOR) และประมาณราคาค่าใช้จ่าย และเมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดรายละเอียดขอบเขตของงาน (TOR) แล้ว คณะกรรมการดังกล่าวมิได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ระเบียบกำหนดไว้
ประเด็นที่ 3 เรื่องสมยอมราคาปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีบริษัทเอกชนเข้าข่ายสมยอมราคาจำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท จิปาถะ ไอเดีย จำกัด บริษัท คิวริโอ ทัวร์ แอนด์ แทรเวิล จำกัด และบริษัท สรรค์สร้าง จำกัด โดยทั้งสามบริษัทได้มีการจดทะเบียนเพิ่มเติมวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการประกอบกิจการประดับตกแต่งไฟ โดยมีการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวกันไปยื่นจดทะเบียนก่อนวันเสนอราคาในโครงการดังกล่าว เพื่อให้ตนมีคุณสมบัติเป็นผู้เข้าเสนอราคาในโครงการดังกล่าวได้ จึงมีเหตุให้น่าเชื่อว่าทั้งสามบริษัทมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน อันเป็นพฤติการณ์เข้าข่ายตกลงร่วมกันในการเสนอราคาเป็นความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจ้างเหมาในครั้งนี้
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีมติเห็นชอบเอาผิดต่อม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร และข้าราชการรวม 9 คนนั้น ป.ป.ช.ได้รับหนังสือจากผู้ว่าการ สตง.เมื่อวานนี้ และได้นำข้อมูลที่ สตง.แจ้งมาส่งไปให้คณะอนุกรรมการไต่สวนไปพิจารณาว่า ข้อมูลที่ สตง.ส่งมามีมูลที่จะกล่าวหา หรือตัองไต่สวนเพิ่มเติมหรือไม่ และยืนยันว่าการพิจารณาเรื่องนี้ไม่ได้ตัดอำนาจหรือขัดแย้งกับทาง สตง.แต่อย่างใด และ ป.ป.ช.สามารถตั้งไต่สวนเพิ่มเติมได้ตลอดเวลาตราบใดที่คณะกรรมการป.ป.ช.ยังไม่มีมติชี้มูลความผิดในโครงการนี้ทั้งหมด