นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โฉมหน้าขององค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะแตกต่างไปจากเดิม ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน จะผ่านการทำประชามติในวันที่ 7 ส.ค.ที่จะถึงนี้หรือไม่ โดยนับตั้งแต่ปี 34 ที่มีการก่อตั้งองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินยังไม่มีบทบาทมากนัก เพราะไม่สามารถที่เอาผิดเอาถูกใครได้ เป็นแค่องค์กรที่ให้คำแนะนำ จนกระทั่งมาถึงรัฐธรรมนูญปี 50 จึงมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัด
ในรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ.ซึ่งเชื่อว่าจะผ่านการทำประชามติ ได้กำหนดบทบาทของ 5 องค์กรอิสระ คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.), คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ร่วมกันกำหนดมาตรฐานจริยธรรม และช่วยเหลือกันให้แต่ละองค์กรทำหน้าที่ให้เกิดความเรียบร้อยและส่งต่อเรื่องที่พบให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งเชื่อว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะเป็นองค์กรที่สอดส่องดูแลเหตุต่างๆ แล้วส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องเตรียมความพร้อม ทั้งเรื่องกำลังคน การขยายสาขา
บทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดินตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้แก่ 1.การเสนอแนะความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายของหน่วยงานต่างๆ โดยสามารถดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เห็นว่าไม่เหมาะสมเสนอให้แก่เจ้าของหน่วยงานนั้นได้โดยตรง ไม่ใช่การรับเรื่องร้องทุกข์เหมือนที่ผ่านมา 2.การแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของหน่วยงานต่างๆ 3.การเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานไปให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ 4.หากพบการกระทำผิดให้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และ 5.หากพบการกระทำผิดให้ร้องต่อศาลปกครอง
ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีหน้าที่เป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมายแห่งชาติ/เป็นพนักงานสอบสวนแห่งชาติ/เป็นผู้ตรวจราชการประเทศไทย/เป็นโจทก์แทนประชาชน/เป็นผู้กำหนดมาตรฐานความประพฤติของผู้บริหารระดับสูงของประเทศ
"ผู้ตรวจการแผ่นดินคงต้องเตรียมการรองรับ ไม่เช่นนั้นจะเหมือนสามล้อถูกหวย ไม่เช่นนั้นจะถูกต่อว่าว่าให้อำนาจแล้วก็ทำอะไรไม่ได้" นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินควรเตรียมพร้อมเรื่องกฎหมายลูกในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ตรวจการแผ่นดินว่าต้องการให้เป็นอย่างไร เพื่อส่งให้ กรธ.พิจารณา ซึ่งในกฎหมายลูกอาจมีบางเรื่องที่ใหญ่กว่า แต่ยังไม่ตกผลึก จึงยังไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ยังต้องปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เพื่อรองรับงานตามอำนาจและหน้าที่ใหม่ ซึ่งหากผู้ตรวจการแผ่นดินไม่เตรียมความพร้อมไว้รองรับจะทำให้หมดความเชื่อถือ เพราะไม่สามารถทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบตามที่ได้รับมอบหมาย
"ผมห่วงว่าในอนาคตจะหาคนมาเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินยากกว่าแต่ก่อน เพราะกระบวนการสรรหายุ่งยากซับซ้อนมาก แล้วจะเหลือสักกี่คนที่จะมาเป็นได้" นายวิษณุ กล่าว