พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ระบุว่า การเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นก่อนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้เปิดช่องทางแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายไปพิจารณาดำเนินการในเรื่องนี้ เชื่อว่าสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ จะคลี่คลายขึ้น ส่วนการยกเลิกเรียกบุคคลที่เห็นต่างมาปรับทัศนคตินั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า จะยกเลิกหรือไม่ เป็นไปตามคำพูดที่ผู้บัญชาการทหารบกได้ระบุไว้
พล.อ.ประวิตร ระบุอีกว่า ยังไม่ทราบหากประชามติไม่ผ่านจะมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ และมีการยืดโรดแมพออกไป โดยการทำประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้เป็นไปตามโรดแมพ ส่วนกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ออกมาระบุว่าผลการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะมีประชาชนเห็นด้วยไม่ถึง 80% นั้นว่า เป็นการพูดไปเอง
"ทุกอย่างต้องใช้เวลา เป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติจริงอาจจะมีการหยิบรัฐธรรมนูญปี 40 หรือปี 50 หรือฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รวมถึงฉบับปัจจุบันด้วยก็ได้ แต่หากได้รัฐธรรมนูญก็จะมีการเลือกตั้งตามที่กำหนดไว้"
ส่วนกรณีคณะผู้แทนรัฐสภายุโรป (EU) เข้าพบและหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พรรคเพื่อไทย เมื่อวานนี้ เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถทำได้ และเชื่อว่าจะเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และไม่เป็นห่วงว่าอดีตนายกรัฐมนตรีจะให้ข้อมูลที่บิดเบือนหรือเป็นการปลุกปั่นให้ต่างประเทศมองไทยในภาพลบ เพราะการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความจริงมาโดยตลอด ทั้งนี้คณะผู้แทนรัฐสภายุโรปไม่ได้มาพบ คสช. ทราบแต่เพียงว่าเป็นการเดินสายมาพบกับฝ่ายการเมือง รวมถึงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ด้วย