"วิษณุ" ยันกระบวนการเลือกตั้งยังอยู่ในโรดแมพคสช. แม้การออกเสียงประชามติจะผ่านหรือไม่ผ่าน

ข่าวการเมือง Thursday May 19, 2016 18:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในเวทีประชุมชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญต่อพรรคการเมืองว่า หากกรณีร่างรัฐธรรมนูญของ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่ผ่านความเห็นชอบจากการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.59 รัฐบาลได้เตรียมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จภายใน 15 วัน โดยจะหยิบยกจากข้อดีของรัฐธรรมนูญในอดีตนำมารวบรวมเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยจะปรับปรุงให้ทันกับยุคสมัย ซึ่งคาดว่าใช้เวลาในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญประมาณ 1-2 เดือน แต่อาจจะใช้เวลานานในขั้นตอนพิธีกรรมที่จะต้องเขียนรัฐธรรมนูญลงในสมุดไทย ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ยืนยันว่ากระบวนการทั้งหมดที่นำไปสู่การเลือกตั้งยังอยู่ในโรดแมพของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ส่วนกรณีร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ แต่คำถามพ่วงไม่ผ่าน รัฐบาลก็นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 30 วัน แต่หากทั้งร่างรัฐธรรมนูญผ่านและคำถามพ่วงผ่านการออกเสียงประชามติก็จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 5 มาตรา และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามขั้นตอน และจะเกิดการเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่นอนในปี 2560

สำหรับบทบาทรัฐบาลต่อการออกเสียงประชามตินั้นจะดำเนินการใน 3 ข้อ คือ การรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างนี้จนถึงวันออกเสียงประชามติ, การร่วมมือกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดทำประชามติ และรอดำเนินการตามโรดแมพที่ คสช.วางไว้

ด้านนายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. กล่าวว่า ภายหลังจากร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประกาศใช้เป็นกฎหมาย กกต.ได้ดำเนินการจัดเตรียมความพร้อม รวมถึงระเบียบและประกาศในการดำเนินการออกเสียงประชามติ และได้สำรวจข้อมูลทั้งหมด ซึ่งมีผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติกว่า 50.5 ล้านคน มีหน่วยออกเสียงประชามติจำนวน 98,303 หน่วย เจ้าพนักงาน 791,449 คน และได้เตรียมการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง โดยชุดแรกจะส่งให้ สนช. และ กรธ.ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ นอกจากนี้จัดพิมพ์สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารที่เกี่ยวข้องเตรียมแจกจ่ายให้ประชาชนต่อไป

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ คสช. แก้ไขคำสั่งให้พรรคการเมืองดำเนินการประชุมพรรคได้ เพื่อให้มีโอกาสได้ช่วยทำความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันว่าไม่ต้องการให้พรรคการเมืองใดสร้างความวุ่นวายหรือปลุกระดม

ทั้งนี้ได้แสดงความเห็นว่าการทำประชามติครั้งนี้แตกต่างจากการทำประชามติครั้งที่ผ่านมา และต่างกับหลายประเทศที่มีการทำประชามติในปีนี้ ซึ่งมองว่าการทำประชามติเป็นกระบวนการทางการเมือง และประชาชนควรได้รับโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างเสรี แต่ขณะนี้คำบางคำ เช่น คำว่า "ชี้นำ" กลายเป็นสิ่งต้องห้าม และหากมองว่าการชี้นำเป็นเรื่องผิด ถือเป็นการดูถูกประชาชน ดังนั้นจึงต้องการถามความชัดเจนจาก กกต.และให้ตีความความหมายของ คำว่า หยาบคาย ก้าวร้าว ข่มขู่ รวมไปถึงการที่ประชาชนสวมใส่เสื้อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และหากประชามติไม่ผ่าน ต้องมีการวางทางเลือกว่าจะดำเนินการอย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ