พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ และร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอ
การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ นี้ เป็นการยืนยันนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการเคารพและส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมให้สังคมไทยมีความปลอดภัยมากขึ้น สร้างความมั่นใจกับประชาชนว่าการลิดรอนเสรีภาพจากรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะกระทำมิได้ รวมทั้งเป็นการสร้างแรงจูงใจในการลงทุนในประเทศ ตลอดจนจะเป็นหลักประกันความยุติธรรม
ทั้งนี้ หากสามารถผลักดันเรื่องนี้ให้มีความก้าวหน้าก็จะเป็นพัฒนาการเชิงบวกที่สามารถแถลงต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในการรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยภายใต้กลไก UPR ครั้งที่ 2 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส อันจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทย
การตราพระราชบัญญัติเฉพาะเพื่ออนุวัติการตามอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ จะทำให้การกำหนดฐานความผิดเฉพาะสำหรับการกระทำทรมานฯ และการบังคับบุคคลให้หายสายสูญ รวมทั้งมีการกำหนดมาตรการในการป้องกัน ปราบปราม ดำเนินคดี เยียวยาผู้เสียหายและครอบครัว ฯลฯ ซึ่งสอดคล้องและครอบคลุมพันธกรณีทั้งหมดที่กำหนดไว้ตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ได้อย่างสมบูรณ์
โดยกระทรวงยุติธรรม ได้จัดทำแผนการจัดทำกฎหมายลำดับรองและกรอบระยะเวลาของร่างพระราชบัญญัติเรียบร้อยแล้ว คือ 1) ระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ (ร่างมาตรา 19) 2) ระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดให้มีนักนิติศาสตร์วิทยาศาสตร์ แพทย์ หรือจิตแพทย์ และวิธีการสืบสวนสอบสวน (ร่างมาตรา 38) 3) ระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยค่าตอบแทนของพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินคดี และที่ปรึกษาคดีทรมานหรือคดีบังคับบุคคลให้สูญหาย (ร่างมาตรา 43) ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศพระราชบัญญัติใน ราชกิจจานุเบกษา