ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 155 คะแนนเห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ เพื่อให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย คือ เป็นการโอนงบประมาณจากหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ 25 หน่วยงาน จำนวน 22,106,555,000 บาท มาเป็นงบประมาณใน 3 รายการ ประกอบด้วย 1.งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 21,885,555,000 บาท 2.สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา แผนงานการสนับสนุนการจัดการของรัฐสภา ศาล และหน่วยงานอิสระของรัฐจำนวน 21,000,000 บาท และ 3.เงินทุนหมุนเวียนเพื่อผลิตและขยายพันธุ์พืช จำนวน 200,000,000 บาท
นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องมีการปรับโอนงบประมาณในครั้งนี้ เพราะว่ามีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้วปรากฎว่ามีเงินเหลือจ่าย 7,416 ล้านบาท เป็นรายจ่ายประจำที่ดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์แล้วเป็นจำนวนเงิน 2,431 ล้านบาท และเป็นรายการที่ไม่สามารถลงนามตามสัญญาได้ภายในกำหนดวันที่ 31 พ.ค.2559 จำนวน 12,273 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุมาจากการประกาศจัดซื้อจัดจ้างไปแล้วแต่ไม่มีผู้เข้ามาเสนอราคา และไม่มีผู้มีคุณสมบัติพอจะเข้ามาเสนอราคา จึงจำเป็นต้องปรับรายการงบประมาณ
ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า สำหรับการขอปรับลดเงินอุดหนุนการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของกรมกิจการเด็กและ เยาวชนจำนวน 331 ล้านบาท เพราะมีผู้มาลงทะเบียนล่าช้าและมีเป้าหมายต่ำกว่าที่ได้ตั้งเอาไว้ ในเรื่องการปรับลดเงินเหลือจ่ายตามแผนบริหารจัดการน้ำของสำนักงานปฏิรูป ที่ดินเพื่อการเกษตรจำนวน 47 ล้านบาท เพราะการดำเนินการของหน่วยงานดังกล่าวได้ทำหน้าที่ภารกิจลุล่วงแล้วและมี เงินเหลือจึงต้องมีการปรับลดตามกฎหมาย
"คณะรัฐมนตรีได้มีมติตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.58 และ 29 ธ.ค.58 เพื่อกำหนดเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณของส่วนราชการประจำปี 2559 ต้องมีการกำหนดเป้าหมายในการเบิกจ่ายของทุกหน่วยงานว่าต้องเบิกจ่ายให้ได้ ไม่น้อยกว่า 96% เมื่อได้ดำเนินการตามแผนผลปรากฎว่าสามารถบรรลุเป้าหมายได้พอสมควรเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา" นายสมศักดิ์ กล่าว
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีในแต่ละปีจะกำหนดไว้ว่า ให้หน่วยราชการใด กระทรวงใดได้งบประมาณเท่าไหร่ แต่เมื่อพบว่าหน่วยงานเจ้าของงบประมาณนั้นไม่สามารถปฏิบัติได้ หรือปฏิบัติภารกิจนั้นทำแล้วเสร็จ หรือมีเหตุจำเป็นต้องโอนงบประมาณจากหน่วยหนึ่งไปยังหน่วยงานหนึ่ง แต่การโอนงบข้ามหน่วยงานนั้นไม่สามารถกระทำด้วยคำสั่งของใครก็ได้ เพราะมีการระบุว่า การโอนงบข้ามหน่วยงานจะต้องออกเป็น พ.ร.บ.เท่านั้น
นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลเห็นว่าจะต้องโอนงบข้ามกรม เพราะหน่วยงานนั้นไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้แล้วเสร็จ โดยรัฐบาลได้ขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้จัดการกับงบประมาณของหน่วยงานตนเอง โดยดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายในวันที่ 31 มี.ค.59 และหากมีการลงนาม ต้องกระทำให้เสร็จภายใน 31 พ.ค.59 หากไม่สามารถทำได้ก็ต้องโอนงบประมาณ โดยโอนงบในส่วนนี้มาเป็นงบกลาง เพื่อสำรองจ่ายที่จำเป็นอีกหลายหลายรายการ
"การโอนงบครั้งนี้ไม่กระทบกับโครงการที่ดีและแผนงานที่ดำเนินการเป็นปกติ เพราะหากโครงการใดที่ทำไปแล้วก็สามารถทำต่อได้" นายวิษณุ กล่าว