นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มั่นใจว่ากรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จะไม่กระทบต่อการออกเสียงประชามติ ไม่จำเป็นต้องเลื่อนการออกเสียงประชามติ และยืนยันว่าการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.59 จะมีแน่นอน
นายศุภชัย ได้กล่าวถึงเรื่องนี้กรณีที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตือนให้กกต.หาช่องทางรองรับหากศาลรัฐธรรมนูญตีความให้พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรค 2 ขัดรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งกกต.ไม่ต้องเตรียมวิธีการรองรับเนื่องจากสิ่งที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเป็นเพียงวรรคเดียวใน พ.ร.บ.ประชามติ
ขณะเดียวกัน หากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้นระหว่างวันออกเสียงประชามติก็ต้องเป็นหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะต้องดูแล
ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ต้องรอฟังการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนี้อย่าเพิ่งกังวลไปก่อน ส่วนจะต้องการเลื่อนทำประชามติออกไปจากเดิมวันที่ 7 ส.ค.หรือไม่นั้น ขณะนี้ กกต.ยังต้องจัดให้มีการทำประชามติภายใน 120 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดไว้ ซึ่งวันที่ 7 ส.ค.59 ก่อนกำหนดเพียงไม่กี่วัน ดังนั้นถ้าหากจะมีการเลื่อนการทำประชามติจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557
"หากไม่มีมาตรา 61 วรรคสอง ไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำประชามติ สามารถจัดได้ตามปกติและตามวันเวลาเดิม แต่กระบวนการก่อนทำประชามติ อาจเกิดปัญหาในเรื่องการบิดเบือน ให้ข้อมูลเท็จได้ ซึ่งจะไม่มีกฎหมายไปเอาผิดคนเหล่านั้น" นายมีชัย กล่าว
พร้อมระบุว่า ไม่เห็นเหตุผลของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ส่งเรื่องกรณีมาตรา 61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า พูดถึงทั้งหมดหรือเอาเฉพาะบางคำในวรรคสองที่ไม่ชัดเจน
อย่างไรก็ดี ขณะนี้กฎหมายประชามติยังคงบังคับใช้ เพราะยังไม่ถูกบอกว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ามาตรา 61 วรรคสอง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว)พ.ศ.2557 ก็จะไม่มีผลสำหรับผู้ที่ถูกศาลตัดสินลงโทษไปแล้ว แต่ผู้ที่ยังไม่ถูกศาลตัดสินก็จะพ้นผิด เพราะมาตราดังกล่าวนี้ใช้ไม่ได้แล้ว แต่เท่าที่ดูจนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครถูกศาลลงโทษจากการทำผิดตามมาตรา 61 วรรคสอง
ขณะที่นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการและโฆษกผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงความคืบหน้าการส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.บ.ประชามติขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า เบื้องต้นสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ดำเนินการร่างคำฟ้องเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างการนำเสนอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทั้ง 3 คนพิจารณาและลงนาม ซึ่งคาดว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จ และส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ทันตามที่กำหนดไว้