นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้จัดให้มี “โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการบูรณาการภาครัฐและเอกชนในการจัดทำยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาค” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานและกระชับความร่วมมือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมกันขับเคลื่อนการจัดทำยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาค ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจในระดับพื้นที่เป็นไปอย่างมีทิศทาง โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย ผู้บริหาร ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม รวมประมาณ 1,300 คน ซึ่งการสัมมนาแบ่งเป็น 4 ภาค ได้แก่ 1.พื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด ดำเนินการระหว่างวันที่ 7-8 มิถุนายน 2559 ณ จังหวัดสงขลา 2.พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ดำเนินการระหว่างวันที่ 13-14 มิถุนายน 2559 ณ จังหวัดขอนแก่น 3.พื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ดำเนินการระหว่างวันที่ 20-21 มิถุนายน 2559 ณ จังหวัดเชียงใหม่ และ 4.พื้นที่ภาคกลาง 25 จังหวัด ดำเนินการระหว่างวันที่ 23-24 มิถุนายน 2559 ณ กรุงเทพมหานคร
การสัมมนาในครั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากภาคีเครือข่าย ในกำหนดเนื้อหาและรูปแบบการสัมมนาฯ อาทิเช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งมีทั้งการบรรยายพิเศษ การให้ความรู้ และมีการตอบข้อซักถาม และการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็น โดยทีมวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญพิเศษ และมากด้วยประสบการณ์ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาองค์กรชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้/ปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะกับผู้เข้ร่วมสัมมนา เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ภาคด้านเศรษฐกิจ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดและกลุ่มจังหวัด เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างกันเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
กระทรวงมหาดไทยได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ (Area Base) ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีศักยภาพและความสามารถที่แตกต่างกัน และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานภายใต้สภาวะที่รัฐบาลมีงบประมาณและทรัพยากรที่จำกัด จึงจำเป็นต้องสร้างการบูรณาการยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจระดับภาค เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน และเสริมสร้างประสิทธิภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด เพื่อให้มีแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาค ภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาคม และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อให้มีการประสานเชื่อมโยงการทำงานในรูปแบบประชารัฐต่อไป
นายชยพล กล่าวว่า เพื่อให้การพัฒนาพื้นที่ (Area Base) ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดมีประสิทธิภาพ และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของตนเองเพื่อให้มีเศรษฐกิจที่ดีอันจะส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กระทรวงมหาดไทยได้เร่งรัดให้ทุกจังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการ กรอ.จังหวัดตามโครงสร้างใหม่ ซึ่งที่ได้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนแล้ว รวมทั้งเตรียมพร้อมรองรับการจัดตั้ง กรอ.ภาค เพื่อเป็นกลไกการประสานและเชื่อมต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับภาคที่มีกรอบทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ชัดเจนในระดับพื้นที่ ตลอดจนเตรียมพร้อมรองรับแผนพัฒนาและยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาค ภายใต้กรอบความร่วมมือของศูนย์ปฏิบัติการร่วมกลุ่มจังหวัด (Regional Operation Center : ROC) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและนโยบายรัฐบาล