กกต.แนะเชิญผู้เห็นต่างร่วมรายการประชามติร่างรธน. เตรียมปรับเนื้อหาเพลงรณรงค์หลังไม่เหมาะสม

ข่าวการเมือง Monday June 13, 2016 17:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้ง เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามติ กรณีการขอความร่วมมือสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลเพื่อเผยแพร่เนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติ นอกเหนือจาก 5 ช่องหลักว่า จากจำนวนสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลทั้งหมด 20 ช่อง ในขณะนี้ตอบรับมาแล้วทั้งหมด 17 ช่อง เหลือเพียงช่อง TNN และ NOW 26 ที่อยู่ระหว่างการสอบถามข้อมูล ส่วนช่อง Workpoint แจ้งว่าไม่สะดวกที่จะออกอากาศ โดยผังรายการทั้งหมดจะมีความชัดเจนในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ และจะเริ่มออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 27 มิ.ย.59 โดยแต่ละช่องจะสามารถนำไปออกอากาศในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันได้

นายสมชัย ยืนยันว่า การจัดรายการเกี่ยวกับการเผยแพร่และทำความเข้าใจเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ สามารถเปิดโอกาสให้ผู้ที่เห็นต่างสามารถแสดงความเห็นได้ โดยเป็นอำนาจของแต่ละช่องในการพิจารณาคัดเลือกวิทยากรรับเชิญ ซึ่ง กกต.จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

"ผมแนะนำเลยว่า ขอให้สื่อที่รับผิดชอบจัดรายการ 6 ครั้งโดยเสรี เชิญคนที่มีความเห็นต่างมาออกด้วย ถ้าให้ผมแนะนำชื่อที่สมควร แต่เป็นวิจารณญาณของสื่อเองจะเชิญมาหรือไม่ ตัวอย่างเช่น คุณจาตุรนต์ ฉายแสง ที่ให้ความเห็นอยู่บ่อยๆ คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ คุณจตุพร พรหมพันธุ์ กลุ่มคนเหล่านี้น่าจะเชิญมาให้ความเห็น แต่ให้ท่านพิจารณาเอง กกต.ไม่มีธงว่าจะต้องเชิญใคร"นายสมชัย กล่าว

สำหรับกรณีเพลงประชามติที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมนั้น นายสมชัย ยืนยันว่า กกต.ไม่มีเจตนาแอบแฝงใดๆ และจากการสอบถามคนประพันธ์เพลงก็ไม่มีเจตนาใช้ภาษาให้เกิดความเข้าใจผิด เพียงแต่ต้องการประชาสัมพันธ์ให้คนออกไปใช้สิทธิให้มากที่สุด

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ กกต.ไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะมีการปรับปรุงเนื้อหาเพลงใหม่ทั้งหมด และจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กกต.ในวันพรุ่งนี้ (14 มิ.ย.) และยังคงรูปแบบการร้องโดยใช้สำเนียงของแต่ละภาคเหมือนเดิม

ส่วนกรณีกลุ่มพลเมืองโต้กลับจะจัดการแสดงมินิคอนเสิร์ตที่บริเวณหน้าสำนักงาน กกต. ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ในเวลา 16.00 น. วันที่ 15 มิ.ย.นั้น นายสมชัย ระบุว่า เป็นสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนสามารถแสดงออกได้ และไม่มีถือว่าเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากมีการเผยแพร่ผ่านสื่อทุกช่องทางในลักษณะที่เป็นเท็จ หยาบคาย ก้าวร้าว ก็อาจจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรคสองและอาจถูกดำเนินคดีได้

"ช่วงเวลาที่มีการจัดมินิคอนเสิร์ต เป็นช่วงเวลาที่ข้าราชการส่วนใหญ่เลิกงาน หรืออาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับคนในพื้นที่ได้ อยากให้ระวังในเรื่องนี้ ส่วนจะเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ หรือเป็นการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนหรือไม่นั้น ถือว่าเป็นหน้าที่ที่ฝ่ายความมั่นคงจะพิจารณาและดูแลความสงบเรียบร้อย" นายสมชัย ระบุ

สำหรับกรณีเพลงแหล่ประชามติของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ที่จัดทำขึ้นนั้น นายสมชัย เห็นว่า นายณัฐวุฒิ เขียนเพลงแหล่ได้ดี เพราะมีการศึกษาเนื้อหารัฐธรรมนูญในแต่ละมาตรา และเท่าที่ได้ติดตามถือว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุผลและสามารถทำได้ แม้อาจจะมีบางถ้อยคำที่มีลักษณะเปรียบเปรยบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นบุคลิกของแต่ละบุคคล

ส่วนกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปเพลง "อย่างนี้ต้องตีเข่า (โหวตไม่เอา แล้วตีตก)" ในเวอร์ชั่นที่ 2 ผ่านทาง Youtube ว่า จากการตรวจสอบเชื่อว่าคนที่ทำคลิปนี้ น่าจะเป็นคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ และถือว่าเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรคสอง เพราะมีการเผยแพร่ในวันที่ 30 เม.ย.59 หลังจากที่กฏหมายประชามติมีผลบังคับใช้แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ