นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของนายกลิน ที เดวีส์ เอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยว่า ได้มีการหารือถึงสถานการณ์ในภาพรวมของทั้งไทยและสหรัฐฯ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี ทั้งนี้ได้ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับการที่ประเทศไทยต้องเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคง ดังนั้นการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเอื้อให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อนำไปสู่การยอมรับกติกา แต่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติก็จะต้องมีกระบวนการและกติกาที่ดี โดยพยายามหลีกเลี่ยงไม่ทำให้เป็นเรื่องความขัดแย้ง ขณะเดียวกันจะต้องส่งเสริมให้สังคมไทยพิจารณาเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า
"ผมกับทูตสหรัฐฯ เห็นตรงกันว่าต้องมีพื้นที่การมีส่วนร่วม ซึ่งทางทูตสหรัฐฯ เข้าใจดีว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในของไทย แต่ก็พูดในมุมหลักการประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงปัญหาความละเอียดอ่อนและความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย โดยตนเห็นว่า กกต.ต้องเป็นหลักด้วยการออกมาขจัดความไม่แน่นอนและความกลัวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการแสดงออกที่เกิดจากผู้มีอำนาจทำให้เกิดความสับสนว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า แนวทางที่จะทำให้การจัดทำประชามติได้รับการยอมรับนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐบาล และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรหารือกันให้มีความชัดเจนว่าการรณรงค์ทำได้ แต่อย่าขัดกับรูปแบบที่ถูกห้าม เช่น 1. ห้ามเวทีปราศรัย แต่การแสดงความเห็นทำได้อย่างเต็มที่เพียง แต่อย่าบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือก่อความวุ่นวาย และควรส่งเสริมให้สื่อจัดเวทีให้เกิดการถกเถียงในเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ 2. ทบทวนบทบาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด ว่าควรหรือไม่ที่จะเอาทรัพยากรของรัฐไปสนับสนุนให้คนเพียงกลุ่มเดียวสามารถชี้แจงได้ เพราะเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามในเรื่องความเที่ยงธรรมของการทำประชามติ
"ผมไม่ได้ห่วงวันลงประชามติ แต่ห่วงหลังวันที่ 7ส.ค.ไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ ก็จะไม่เกิดการยอมรับ ซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์อะไร ผมเป็นคนแรก ๆ ที่เรียกร้องให้ทำประชามติ แต่ถ้าจะทำแบบนี้มันไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งหากไม่ได้รับการยอมรับก็คลี่คลายสถานการณ์บ้านเมืองไม่ได้ เพราะประเด็นรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นความขัดแย้งในอนาคตอีก ยังไม่สายเกินไปที่จะปรับท่าทีทั้งหมดเพื่อให้การลงประชามติได้รับการยอมรับ" นายอภิสิทธิ์ กล่าว