"มีชัย"ยัน รธน.ใหม่ไม่เลิกนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค แต่เพิ่มประสิทธิภาพ

ข่าวการเมือง Thursday July 7, 2016 12:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีผู้ปล่อยข่าวว่าจะมีการยกเลิกว่า เป็นเรื่องไม่จริง มาตรา 258 (ช ข้อ 4) ในรัฐธรมนูญฉบับใหม่ยังรองรับกองทุนที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่พยายามให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ต่อประชาชนโดยตรง และทำให้ระบบนี้ต้องยั่งยืนต่อไป ที่ผ่านมาเรื่องนี้ยังไม่เคยบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เขียนไว้อย่างชัดเจน เพื่อเกิดประสิทธิภาพสูง ใช้เงินคุ้มค่า ประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้น

"เป็นครั้งแรกที่ได้บรรจุเรื่องกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดคุณภาพและประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น ใช้เงินคุ้มค่า ประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้น และทำให้ระบบนี้ยั่งยืนต่อไป ไม่ได้มีการล้มเลิกนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคอย่างที่มีเป็นข่าว"นายมีชัย กล่าว

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีสาระสำคัญ 2 ส่วน คือ โครงสร้างของประเทศ การบริหารบ้านเมือง และการแก้ปัญหาของประเทศชาติอย่างเป็นระบบ ซึ่งปัญหาของประเทศต่างๆ ไม่เหมือนกัน แต่แนวทางการแก้ปัญหาจะคล้ายกัน โดยปัญหาของประเทศไทยที่รวบรวมจากความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องที่ต้องได้รับการแก้ไข 6 ด้าน คือ 1.สิทธิเสรีภาพของประชาชน 2.ความเหลื่อมล้ำในการดำเนินชีวิตของประชาชน 3.ความไม่ตรงไปตรงมาทางการเมือง 4.การทุจริตประพฤติมิชอบ 5.ระบบการศึกษาที่เป็นต้นตอของความเหลื่อมล้ำ และ 6.การบังคับใช้กฎหมาย

นายมีชัย กล่าวว่า ด้านสาธารณสุขมีความก้าวหน้าไปไกลเร็วกว่าสาขาอื่น ๆ และมีแนวคิดที่ได้รับการยอมรับนับถือ แม้จะเขียนหรือไม่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ วิธีคิดของคนสาธารณสุขก็ก้าวหน้าไปแล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เขียนไว้ว่าของใหม่ควรมีอะไร เสมอภาคอย่างไร ขจัดความเหลื่อมล้ำอย่างไร โดยได้กำหนดไว้ในหลายมาตรา

ส่วนที่เพิ่มเข้ามาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ การดูแลประชาชนครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตาย ให้มีความรู้ ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู ครบวงจร ให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปขยับขยายกิจกรรม เพื่องบประมาณดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งการสนับสนุนให้ประชาชนในประเทศมีหมอประจำตัว ด้วยการให้มีแพทย์เวชศาสตร์ประจำครอบครัว ควบคู่ไปกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มดำเนินการแล้ว เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขดีขึ้น ใช้งบประมาณน้อยลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ