กรธ.เดินสายแจงนักลงทุนในตลาดหุ้น ยัน รธน.เป็นสากล-เข้ากับบริบทของสังคม

ข่าวการเมือง Wednesday July 13, 2016 18:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวในการเสวนาวิชาการหัวข้อ "เข้าใจร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก่อนไปลงประชามติ" ว่า การกลับเข้าไปเป็นประชาธิปไตยนั้นจะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ผ่านมามีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วนำความคิดเห็นเหล่านั้นมาประกอบเพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นสากล และเข้ากับบริบทของสังคมไทย ทั้งในเรื่องของการเมือง การปกครอง รวมไปถึงการปฎิรูป และการปรองดอง

ทั้งนี้ สิ่งที่หลายฝ่ายได้แสดงความกังวลไม่ใช่เนื้อหาในรัฐธรรมนูญ แต่แสดงความเป็นห่วงในสถานการณ์ปัจจุบัน และขั้นตอนการลงประชามติ ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขอยืนยันว่า เมื่อวันที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ประกาศบังคับใช้ ประชาชนจะมีสิทธิเสรีภาพ 100% เนื่องด้วยมีการเขียนชัดเจนว่า ประชาชนไทยมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ ขณะที่มีการเพิ่มเติมหมวดใหม่ คือ หน้าที่ของรัฐ รัฐไม่มีดุลพินิจ รัฐต้องทำ ถ้ารัฐไม่ทำ บุคคลหรือชุมชนสามารถฟ้องรัฐได้เลย

นอกจากนี้การปฎิรูปต่างๆ มีการระบุไว้ชัดเจนว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น การปฎิรูปตำรวจ จะต้องมีคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วย ตำรวจครึ่งหนึ่งและบุคคลภายนอกครึ่งหนึ่ง และมีระยะเวลาในการปฎิรูปให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี รวมถึงขั้นตอนในการสอบสวนหรือพิสูจน์หลักฐาน เป็นต้น

สำหรับผู้ที่มีสิทธิออกเสียงลงประชามติคือ บุคคลที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้าจะมีหนังสือจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งไปตามทะเบียนบ้าน เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนผู้มีสิทธิไปออกเสียงประชามติ และอธิบายวิธีการ-ขั้นตอนในการลงประชามติ

ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการ กรธ. กล่าวว่า ที่มาที่ไปของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีการรวบรวมถึงปัญหา และนำมาวิเคราะห์ในแต่ละเรื่องของปัญหา เพื่อนำไปแก้ไขให้ถูกต้องและตรงจุด โดยสภาพปัญหาพบว่ามีอยู่ 3 ประการ คือ ประเทศไม่เจริญหรือย่ำอยู่กับที่, ความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของเศรษฐกิจ สังคม หรือการศึกษาที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดของการพัฒนาประเทศชาติ และความแตกแยกของคนในสังคม

โดยหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเหล่านี้พบว่าจากการจัดอันดับของ The World Economic Forum (WEF) ปี 57-58 ปัญหาสำคัญมากที่สุดของประเทศไทย อันดับ 1 คือ การทุจริตคอรัปชั่น เช่น ความโปร่งใสของการจัดทำนโยบายสาธารณะ โดยมีการศึกษาหากเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นจะมีวิธีการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาอย่างไร รองลงมา คือ การไม่เชื่อมั่น การไม่มั่นคงในสถาบันการเมือง รวมถึงระบบราชการด้วย ซึ่งได้บอกชัดเจนว่าจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขใหม่ ทั้งในแง่ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม และการมีวินัยทางการเมือง การคลัง

พร้อมกันนี้ ยังพบปัญหาการพัฒนาประเทศในภาพรวมที่ไม่มียุทธศาสตร์ต่อเนื่อง เนื่องจากรัฐบาลไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีการวางแผนระยะยาว ทำให้เป้าหมายประเทศไม่ชัดเจน, ค่านิยม หรือวัตถุนิยม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไข เนื่องจากประเทศไทยใช้รูปแบบความเชื่อมากกว่าเหตุผล แต่ขาดความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม

ขณะที่นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต โดยส่วนหนึ่งที่ได้มีการปรับปรุง คือ การชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ซึ่งหากติดปัญหาของการชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ก็สามารถให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้เลย เพื่อไม่ให้เกิดทางตันเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

โดยปัญหาในอดีตที่สำคัญของประเทศไทย คือ การทุจริต ทั้งการทุจริตในหน้าที่ราชการ หรือการเลือกตั้ง รวมไปถึงการทุจริตด้านความประพฤติไม่ชอบ ซึ่งในเบื่องต้นมีการแก้ไขการคัดกรองบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง โดยมีการกำหนดคุณสมบัติไว้อย่างชัดเจน และจะมีการนำไปใช้กับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และคณะรัฐมนตรีด้วย อีกทั้งยังมีการเพิ่มความผิด หากมีการทุจริต บุคคลนั้นจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ขณะเดียวกันสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอีกประการหนึ่ง คือ ระบบการเลือกตั้ง ส.ว.ที่ประชาชนสามารถเป็น ส.ว.ได้จากการคัดเลือกของประชาชนเอง อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไปในอนาคต

ส่วนนายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ไม่ได้มีการเขียนในเรื่องของเศรษฐกิจมากนัก มีความแตกต่างไปจากฉบับปี 50 แต่ในส่วนของหมวดบัญญัติตามมาตราต่างๆ จะมีการกล่าวถึงเศรษฐกิจหลายเรื่อง และจะมีบทบัญญัติหลายเรื่องที่อาจจะมีผลกระทบกับการดำเนินเศรษฐกิจของประเทศ หรือประชาชนโดยทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีปัญหาทางเศรษฐกิจหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการเอาเปรียบระหว่างผู้ประกอบการกับลูกจ้าง, การพัฒนาประเทศ ซึ่งโยงไปถึงการที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม และมีการพัฒนาไปอย่างไม่มีทิศทาง, การใช้จ่ายงบประมาณแบบไม่มีการวางแผนที่ดีพอ, การไม่กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการบางอย่าง ทำให้ฝ่ายรัฐหรือคนบางคนใช้ระยะเวลามาเป็นตัวดึงเกมได้ โดยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการแก้ไขให้ดีขึ้น ทั้งจากการรับฟังความคิดเห็นของหลายภาคส่วน ซึ่งเชื่อว่าด้วยรูปแบบและเนื้อหาน่าจะนำพาทิศทางประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยดี

ขณะเดียวกัน ยังมีการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีความสมเหตุสมผล และดำเนินเศรษฐกิจเหล่านี้ โดยไม่ขาดความยั้งคิดด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ