มาสเตอร์โพลล์ เผยแกนนำชุมชนพอใจหัวหน้าคสช.ใช้ม.44 ในการแก้ปัญหาสำคัญ-หนุนทำประเมินผลกระทบ

ข่าวการเมือง Thursday July 14, 2016 10:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) จัดทำผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง มาตรา 44 กับกระบวนการทำอาร์ไอเอ (RIA)

ผลสำรวจในประเด็นแรก พบว่า แกนนำชุมชนประมาณ 1 ใน 3 (39.3%) ระบุติดตามข้อมูลข่าวสารของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการใช้มาตรา 44 เพื่อออกกฎหมายคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและประชาชนโดยส่วนรวมอย่าง ต่อเนื่อง ในขณะที่ 54.6% ระบุติดตามบ้าง และพบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่มากกว่า 2 ใน 3 เห็นผลงานจากการใช้มาตรา 44 ในการออกกฎหมายของ คสช. โดย 95.0% ระบุเห็นผลงานในการออกกฎหมายเรื่องการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และการทำประมงผิดกฎหมาย , 94.3% ระบุเห็นผลงานการออกกฎหมายเรื่องการแก้ปัญหาการบุกรุกและถือครองประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ, 92.1% ระบุเห็นผลงานจากการออกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดระเบียบสังคม และ 73.0% ระบุเห็นผลงานจากการออกมาตรการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ตามลำดับ

กรณีคณะรัฐมนตรีมีมติให้ทุกส่วนราชการจะต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบจากการออกกฎหมายในทุกขั้นตอน นั้นพบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 65.6 ระบุทราบมาก่อนแล้ว ในขณะที่ประมาณ 1 ใน 3 หรือ 34.4% ระบุยังไม่ทราบ/เพิ่งทราบจากการสัมภาษณ์

นอกจากนี้ผลการสำรวจยังพบว่าแกนนำชุมชนเกือบร้อยละร้อย (97.5%) คิดว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์จากมาตรา 77 ในร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจะต้องมีการทบทวนความจำเป็นในการออกกฎหมายแต่ละฉบับ

เมื่อสอบถามถึงผลดีของการประเมินผลกระทบจากการออกกฎหมาย หรือการทำอาร์ไอเอ (RIA) นั้นพบว่า 95.6% ระบุว่าการทำอาร์ไอเอทำให้รัฐบาลมีข้อมูลที่จะนำไปวิเคราะห์ปัญหาและประเด็นในการปฏิรูปได้ชัดเจนขึ้น รองลงมาคือ 94.4% ระบุคิดว่าจะสามารถประเมินผลความคุ้มค่าของกฎหมาย/มาตรการที่จะประกาศใช้ได้, 92.0% ระบุเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชน/สาธารณชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการออกกฎหมาย, 91.8% ระบุทำให้เกิดความโปร่งใสและลดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในขั้นตอนการออกกฎหมายได้ หรือการหาประโยชน์จากช่องว่างของกฎหมายได้ และ 90.5% ระบุการประเมินผลกระทบจากการออกกฎหมาย หรือการทำอาร์ไอเอ (RIA) จะช่วยสร้างการยอมรับและลดความขัดแย้งในสังคมต่อกฎหมายที่จะประกาศใช้

สำหรับความเชื่อมั่นของแกนนำชุมชนกรณีการประเมินผลกระทบจากการออกกฎหมาย หรือการทำอาร์ไอเอ (RIA) ในทุกขั้นตอนจะทำให้กฎหมายที่ออกมามีคุณภาพและตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงได้หรือไม่นั้น ผลการสำรวจพบว่าแกนนำชุมชน 94.2% ระบุเชื่อมั่นว่าจะเป็นเช่นนั้น ในขณะที่ 5.8% ระบุไม่เชื่อมั่น

ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงกระทรวงที่ควรมีการประเมินผลกระทบจากการออกฎหมายหรือควรทำอาร์ไอเออย่างเร่งด่วนนั้นพบว่า 59.9% ระบุกระทรวงมหาดไทย ,44.9% ระบุกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, 30.1% ระบุกระทรวงยุติธรรม, 19.6% ระบุกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม และ 18.3% ระบุกระทรวงศึกษาธิการ ตามลำดับ

นอกจากนี้ผลสำรวจ ยังพบว่าแกนนำชุมชนกว่า 90% ระบุมีความสนใจที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของการออกกฎหมายแต่ละฉบับ และส่วนใหญ่คือ 83.0% ระบุเชื่อมั่นว่ากระบวนการประเมินผลกระทบจากการออกฎหมายหรือการทำอาร์ไอเอจะเป็นไปอย่างโปร่งใสและปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง และเกือบร้อยละร้อย (99.6%) ต้องการให้แต่ละกระทรวงมีการเผยแพร่รายงานการประเมินผลกระทบทางกฎหมายให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบด้วย

อนึ่ง มาสเตอร์โพลล์ ได้ทำการสำรวจตัวอย่างแกนนำชุมชนจำนวนทั้งสิ้น 1,107 ชุมชน จาก 27 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นครปฐม ชลบุรี เพชรบุรี ชัยนาท สระบุรี สระแก้ว ขอนแก่น นครพนม บึงกาฬ อำนาจเจริญ มหาสารคาม หนองบัวลำภู อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด อุทัยธานี พิจิตร พิษณุโลก เชียงราย น่าน ลำปาง สงขลา สุราษฎร์ธานี พังงา และนราธิวาส ในระหว่างวันที่ 8-13 ก.ค. 2559


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ